วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

เจ้ามือป๊อกเด้ง

     เมื่อผมเข้ามาอยู่ในแวดวงของการลงทุนเต็มตัว บ่อยครั้งผมคิดถึงประสบการณ์เก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม พนันที่ผมเคยทำมา ส่วนใหญ่แล้ว เกม พนันที่ว่า มักจะเป็นเกมเดิมพันของ ชีวิตมากกว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งผมก็เล่น พนันเป็นเงินบ้าง และทุกครั้งก็เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน หนึ่งในการเล่นพนันที่ผมเคยทำก็คือการเป็น เจ้ามือป๊อกเด้ง และต่อไปนี้คือประสบการณ์ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้น
     ในการเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งนั้น สิ่งที่ผมพบก็คือ ผมอาจจะได้เปรียบลูกมือเล็กน้อยในแง่ที่ผมสามารถเลือกที่จะ จับ หรือเปิดไพ่ของลูกมือก่อนโดยเฉพาะคนที่ จั่วไพ่ไปหลายใบและมีโอกาส ตาย ซึ่งจะทำให้ผมชนะหรือ กินคนนั้นก่อน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผมมักจะเล่นได้กำไรเป็นกอบเป็นกำในช่วงเวลาหนึ่งติดต่อกันจนเงินบนหน้าตักผมกองท่วม อาจจะเป็นเพราะผมมีฝีมือ หรือที่น่าจะเป็นมากกว่าก็คือ ดวงกำลังขึ้น แต่หลังจากนั้น ดวงผมก็มักจะเริ่มตก ผมเริ่มแพ้หรือเสียเงินมากขึ้นและมากขึ้นจนเงินกองโตนั้นลดลงไปเรื่อย ๆ จนแทบหมดซึ่งถ้าเวลายังเหลือ ผมก็จะต้อง ควักเค้า หรือเอาเงินจากกระเป๋าออกมาเพิ่ม และแล้ว โชคก็มักจะกลับมา ผมเริ่มได้กำไรและพอร์ต.. อุ๊บ.. กองเงินบนหน้าตักก็เติบโตขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็จะลดลงไปอีกในเวลาต่อมา เป็นวงจรหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีสองซึ่งได้เวลานอนและเป็นเวลาที่ต้องเลิกเล่น นั่นก็จะเป็นเวลาตัดสินว่าผมจะได้หรือจะเสียเงินจากการเล่นพนันในครั้งนั้น
การเล่นหุ้นหรือการลงทุน โดยเฉพาะคนที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น และ กล้าได้กล้าเสียบางทีผมก็คิดว่าอาจจะมีอะไรคล้าย ๆ กับการเล่นเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งอยู่เหมือนกันในแง่ของผลตอบแทนหรือเม็ดเงินที่ได้หรือเสีย ลองมาดูตัวอย่างของนักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลาย ๆ คน
     คนแรกก็คือ Jesse Livermore “นักเก็งกำไรบันลือโลก ลิเวอร์มอร์นั้นเป็นนักเก็งกำไรโดยเฉพาะในสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการใช้มาร์จินหรือเงินกู้มาเก็งกำไรมหาศาล วิธีการลงทุนนั้น แน่นอน คงเป็นการ ซื้อนำไล่ราคา รวมถึงการปล่อยข่าวต่าง ๆ ซึ่งในแนวนี้ก็คงคล้าย ๆ กับการทำตัวเป็น เจ้ามือป๊อกเด้ง ซึ่งมีความได้เปรียบคนที่ ซื้อตาม หรือลูกมืออยู่ไม่น้อย ผลการเล่นหุ้นหรือเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์นั้นคล้ายคลึงกับเจ้ามือป๊อกเด้งมากนั่นก็คือ เขารวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็น เซเล็บที่คนรู้จักกล่าวขวัญกันไปทั่ว และต่อมาเขาก็เจ๊งจนล้มละลาย แต่ด้วยการที่ยังมี เครดิตหรือยัง เหลือเค้า อยู่บ้าง เขาจึงสามารถทำกำไรกลับมาได้อีก แต่แล้วเขาก็เจ๊งอีก นับได้ถึงสามครั้งที่เขาล้มละลายและกลับมาใหม่เหมือนเจ้ามือป๊อกเด้งเหมือนกัน โชคไม่ดีที่ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาเลิกเพราะฆ่าตัวตาย พอร์ตของเขาเหลือศูนย์ดอลลาร์
     คนที่สอง ผมยกให้ Julian Robertson ตำนานผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ อดีตผู้บริหารกองทุน Tiger Fund กองทุนเฮดจ์ฟันด์กองแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยเท็คนิคการลงทุนที่มาในแนว “VI” อยู่เหมือนกันแม้ว่าหลายคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ ผลตอบแทนที่โดดเด่นทำให้พอร์ตของเขาเติบโตมหาศาลจากปีเริ่มต้นในปี 1980 ที่พอร์ตแค่ 8 ล้านเหรียญกลายเป็น 7.2 พันล้านในปี 1996 และกลายเป็นเฮดฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยกองทุนถึงกว่า 22 พันล้านเหรียญในปี 1998 แต่พอถึงปี 2000 โชคก็ไม่เข้าข้างเขา กองทุน Tiger มีผลงานย่ำแย่มาก ผลงานพ่ายแพ้ดัชนี S&P ย่อยยับและผู้ถือหน่วยลงทุนพากันถอนทุนทำให้เขาต้องประกาศปิดกองทุน สาเหตุหนึ่งก็คือการที่กองทุนไม่ได้ถือหุ้นไฮเท็คที่กำลังร้อนแรงและราคาวิ่งกันมายาวนานเลย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการที่ Tiger Fund ถือหุ้นบริษัท US Airway อยู่ในพอร์ตมหาศาล ซึ่งราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและเขาปฎิเสธที่จะขายมัน ในที่สุด US Airway ก็ล้มละลายทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหายยับเยิน ยังดีที่ Robertson ยังเหลือเงินส่วนตัวอยู่บ้าง ต่อมาเขาก็ใช้เงินนั้นช่วยเป็น เงินเริ่มต้น เพื่อก่อตั้งเฮดฟันด์ใหม่ ๆ อีกหลายสิบกอง นอกจากนั้นลูกน้องหลายคนที่เคยทำงานใน Tiger Fund ก็ออกไปตั้งกองทุนเฮดฟันด์ใหม่ ๆ อีกหลายกองที่เรียกกันว่า Tiger Cubs หรือกองทุน ลูกเสือ ส่วนตัวจูเลียนเองก็คงจะแก่เกินที่จะเล่นเองแล้วเขาจึงหันมาทำเรื่องการกุศลแทน
     คนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ Bill Miller ผู้บริหารกองทุน Legg Mason Value Trust บิล มิลเลอร์ เคยเป็นสุดยอดนักบริหารกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะเวลาที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ในระยะเวลา 15 ปี จากปี 1991-2005 กองทุนของเขาทำผลตอบแทนชนะดัชนี S&P ได้ทุกปีติดต่อกัน กองทุนเติบโตขึ้นจาก 750 ล้านเหรียญในปี 1990 เป็น 20 พันล้านเหรียญในปี 2006 เขาบอกว่าตนเองเป็น Value Investor ทั้ง ๆ ที่พอร์ตลงทุนของเขาเล่นหุ้นไฮเท็คจำนวนมากที่มีราคาหรือค่า PE สูงลิ่ว ในตอนนั้นเขาเป็น ซุปเปอร์สตาร์แต่แล้ว โชคก็ไม่เข้าข้างเขา ตั้งแต่ปี 2006 ผลตอบแทนของเขาก็ตกต่ำลงและต่ำกว่าดัชนี S&P ในปี 2008 จากต้นปีถึงเดือนมิถุนายน พอร์ตเขาขาดทุนถึง 28% ในขณะที่ดัชนีลบแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้านับย้อนหลังไปสิบปี สถิติของเขาต่ำกว่าดัชนี S&P และแม้ว่าจะดูย้อนหลังไปตั้งแต่ตั้งกองทุน ผลตอบแทนที่เคยยอดเยี่ยมนั้นก็กลายเป็นธรรมดา คือดีกว่าดัชนี S&P เพียงนิดเดียว เทียบกับเจ้ามือป๊อกเด้ง นี่ก็คือช่วงที่เงินบนหน้าตักกองโตลดฮวบลงไปเกือบหมด เราคงต้องดูกันต่อไปว่าเงิน บนหน้าตักจะโตขึ้นอีกไหมสำหรับ บิล มิลเลอร์
อาการแบบเจ้ามือป๊อกเด้ง หรือจะเรียกให้เท่ว่า ป๊อกเด้งซินโดรมนี้ ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่น้อยถ้าเวลาของการเล่นหรือการลงทุนยาวพอ มันเกิดขึ้นได้กับนักลงทุนธรรมดาเช่นเดียวกับ เซียน มันเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นนักเก็งกำไรเช่นเดียวกับคนที่เรียกตัวเองว่า Value Investor ดังนั้น เราจะต้องไม่ประมาทและมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป สถานการณ์ตลาดหุ้นที่เป็นกระทิงที่ยาวนานอาจทำให้เราฮึกเหิมและโลภเกินไปจนลืมไปว่า หายนะนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าเราไม่แน่ใจ การ เก็บเงินเข้ากระเป๋าบ้างในยามที่เงินกำลังกองเต็มหน้าตัก ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวนัก
ที่มา  http://www.panphol.com

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ เซียน 'ฟิวเจอร์ส' ใช้ 'เทคนิคคัล' สู่อิสรภาพทางการเงิน


     เปิดตัว 'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ มือเทรดฟิวเจอร์สชั้น 'เซียน' เคยผ่านสังเวียนเทรดคอมมอดิตี้ในตลาด 'ชิคาโก้' หนุ่มวัย 31 ปี ผู้แสวงหาอิสรภาพทางการเงินด้วย 'เทคนิคัล'

กาแฟสักแก้ว กางเกงใน แล็ปท็อป และก็
Technical...แค่นี้ก็ทำเงินได้แล้ว!!! คำจำกัดความเก๋าๆ ของหนังสือ Freedom Trader ที่ 'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ บรรจงถ่ายทอดร่วมกับ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ในฐานะ "เทรดเดอร์ลึกลับ" เซียนเทคนิคัลฝีมือดี

หยงเป็นผู้เปิดโลก
Commodity Trader ที่น้อยคนจะเข้าถึง เขายังเป็นวิทยากรสอนการลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิคประจำเว็บไซต์สต็อคทูมอร์โรว์ วิถีแห่งเซียนของหยงเคยล้มเหลวในการเข้า "เก็งกำไร" ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา เขานำข้อผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนแล้วพัฒนารูปแบบการ "เทรด" ที่เฉพาะตัว มีเป้าหมายเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับตัวเองอย่างยั่งยืน

"ผมเป็นคนโลว์โพรไฟล์ เทรดหุ้นแต่ที่บ้าน ไม่เคยเข้าห้องค้า" หนุ่นนักเทรดวัย 31 ปี ออกตัวกับทีมงาน "ถนนนักลงทุน" กรุงเทพธุรกิจ
BizWeek ณ สำนักงานสต็อคทูร์มอโรว์ ย่านสีลม

ธำรงชัยเปลือยชีวิตก่อนจะมาเป็น "เซียนเทคนิค" ให้ฟังว่า ช่วงปี 2546 หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากประเทศออสเตรเลียกลับมาประเทศไทยก็อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ จึงเริ่มต้นธุรกิจโดยการนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศสเปนมาจำหน่ายให้กับบริษัทไทย แต่ธุรกิจ "ไปไม่รอด" เหตุว่าอ่อนประสบการณ์ และบริหารธุรกิจไม่เป็น ต่อมามีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชักชวนให้ไปทำงานด้านวาณิชธนกิจที่โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจึงเริ่มรู้จักการลงทุนหุ้นตั้งแต่ตอนนั้น
ผมเริ่มเล่นหุ้นก็เล่นแบบมั่วๆ ดูงบการเงินแบบงูๆปลาๆ พอร์ตผมติดลบกระจุยกระจายเลย ตอนนั้นเลยเริ่มไปอบรมตามที่ต่างๆ จนกระทั่งได้พบกับ โฉลก สัมพันธารักษ์ (ลุงโฉลก) ซึ่งเป็นนักลงทุนมากว่า 30 ปี และเป็นเจ้าของเว็บไซต์โฉลกดอทคอมมาสอนเรื่องเทคนิคให้ หลังจากที่ได้เข้าอบรมผมแทบน้ำตาไหล คนนี้สุดยอดแกเป็นอัจฉริยะเรื่องการลงทุนมาก ลุงโฉลกทำให้ผมพบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต"

หลังจากนั้นธำรงชัย ได้ศึกษาวิชาการลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิคต่อเนื่อง 6-7 เดือน บางครั้งก็อาศัยแบบครูพักลักจำ ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาลงทุนผิดพลาดเรื่องอะไร ส่วนตัวเริ่มมีความมั่นใจว่านี่คือแนวทางที่ต้องการเดินแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เพื่อมาเริ่มต้นอาชีพ
เทรดเดอร์ เต็มตัว
ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าไม่เริ่มต้นก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นตอนไหน เลยตัดสินใจลาออกจากงานช่วงต้นปี 2551 บางคนอาจจะคิดนานถ้าจะออกมาเทรดหุ้นเต็มเวลา แต่ผมคิดไม่นานเหมือนใจเรามาทางนี้อยู่แล้ว ช่วงนั้นผมฟิตจัดมากนำเงินเก็บที่มี และขอบางส่วนจากที่บ้านมาเป็นทุน"

การตัดสินใจลาออกจากงาน เขามีสัญญากับตัวเองว่าจะให้เวลา 3 ปี ถ้าไปไม่รอดก็จะกลับมาทำงานประจำและเป็นการสร้างแรงฮึดให้ตัวเองว่าต้องขยัน และต้องทำให้สำเร็จ จากนั้นจึงบินไปฮ่องกงเพื่อเปิดบัญชีเทรดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับโบรกเกอร์ต่างประเทศตามคำแนะนำของพรรคพวก เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีตัวแทน โดยโบรกเกอร์ที่ไปเปิดบัญชีเป็น "ดิสเคาน์โบรกเกอร์" มีบทวิจัยให้ทุกอย่างยกเว้นเจ้าหน้าที่การตลาด จะต้องเคาะซื้อขายเองเท่านั้นผ่านคอมพิวเตอร์หรือบนมือถือก็ได้
พูดตรงๆเลยนะทีแรกที่ไปเปิดพอร์ตต่างประเทศเพราะมันดูเจ๋งดี ตลาดไทยก็ดีแต่ตลาดนอกโอกาสก็เยอะ โดยช่วงแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลคือ "เทรดเกินตัว" แถมช่วงนั้นเจอวิกฤติเลห์แมน บราเดอร์ส พอดี ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญเพราะยังไม่เข้าใจหลักการบริหารเงินที่ถูกต้อง เล่นเก็งกำไรเกินไป

หยง เล่าว่าได้เข้าไปลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
The Chicago Board of Trade (CBOT) ถือได้ว่าเป็นการเรียนลัดข้ามขั้นตอน ตัวตลาดมันสุดยอดแต่ตัวเองลืมประมาณตนว่ากำลังแข่งกับคู่ต่อสู้ชั้นเซียนอย่างพวกโกลด์แมนแซค บังเอิญไปเจอช่วงที่ตลาดกำลังร่วงแรงช่วงแรกของวิกฤติเลห์แมน (ประมาณเดือนตุลาคม 2551)

ช่วงนั้นก่ายหน้าผากเลยนะว่าชีวิตจะเอาไงต่อ ได้แต่บอกตัวเองว่ายังไม่ครบสามปีเลย ช่วงที่โดนหนักถ้าจะเล่น
Short ต่อก็คงได้กำไรมหาศาล แต่ใจมัน(หลุด)ไปแล้วกว่าจะรู้สึกตัวก็ได้กำไรคืนมานิดเดียว ทำให้ผมรู้จักการตั้งกฎให้ตัวเองคือ "ห้ามเล่นเกินตัว" สำหรับนิยามของคำว่า "ห้ามเล่นเกินตัว" คือต้องมีวงเงินเหลือพอไม่ให้ถูก Call Margin ที่สำคัญต้องไม่ให้น้ำหนักกับสิ่งใดในพอร์ตมากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนตัวถ้าเกินกว่า 10% ถือว่าบ้าคลั่งแล้ว

"หลังจากนั้นผมกลับไปหาลุงโฉลกอีกครั้งเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่น่าเชื่อว่าพอเปลี่ยนสไตล์การเล่นมาช้าลงแทนที่จะได้ผลตอบแทนช้ากลับกลายเป็นว่าได้ผลตอบแทนเร็วขึ้นกว่าเดิมภายใน 10 เดือน ก็ได้สิ่งที่ขาดทุนไปกลับคืนมาทั้งหมด"

หยง มั่นใจว่าถ้าเรื่องเทคนิค และคอนเซ็ปท์การลงทุน ลุงโฉลกต้องอยู่อันดับต้นๆของเมืองไทยแน่นอน เรื่องเทคนิคใครๆ ก็ใช้เหมือนกัน แต่เรื่องของทัศนคติการลงทุนลุงโฉลกมีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร หลังจากที่ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ต่อมาก็ได้เลื่อนขั้นมาเป็น "ครู" สอนอยู่ในชมรมเรื่องทฤษฎีคลื่น เอเลียตเวฟ เทรนด์ฟอร์โลเวอร์ ฯลฯ

เขาบอกว่า ในวิชาเทคนิคการเรียนไม่สิ้นสุดแม้จะเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็น "ผู้สอน" แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสไปฟังสัมนากับเว็บไซต์สต็อคทูร์มอโรว์ ที่พัทยา ได้พบกับ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่มาเป็นวิทยากรในงาน พอได้เจอกันวันนั้นก็ยังไม่มีอะไรมาก

"ต่อมาแพทสนใจขอไปดูการเทรดของผมที่บ้าน ผมก็พูดให้ฟังเรื่องมุมมองการลงทุนในแบบนักเทคนิคคัล ช่วงนั้นแพทเขาเป็น "วีไอ" เต็มตัวไม่สนใจเทคนิคเลย เขาบอกว่ามันเหมือนหลอกลวง พอมาที่บ้านผมดูผมเทรดจริงเขาเลยเริ่มเชื่อและเปิดใจเรียนรู้ จากนั้นผมกับเขาก็คุยกันว่าน่าจะมีกิจกรรมสอนนักลงทุน สุดท้ายก็เกิดเป็นคอร์สอบรมเทคนิคที่ผมรับผิดชอบ


แม้จะเป็นเซียนเทคนิค แต่บ่อยครั้งที่ธำรงชัยนำปัจจัยพื้นฐานมาพิจารณาร่วมด้วย ที่สำคัญการได้ฝึกฝนและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้อยู่เสมอเหมือนการ "ลับมีดให้คม" เพราะเส้นทางนี้มักจะมีสิ่งใหม่ๆนอกเหนือตำราเรียนอยู่เสมอ เขาบอกว่าการใช้เทคนิคไม่มีวันเพอร์เฟค บางไม้ที่มั่นใจก็มีโดน (หลอก) บ้าง ไม่จำเป็นว่าเราต้องได้กำไรทุกครั้ง

"สิ่งที่ผมพบก็คือ เวลาไปสอนมีแต่คนอยากรวยเร็วๆ การทุ่มสุดตัวอาจไม่ยั่งยืน"

หยง มองว่าอาชีพเทรดเดอร์มีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้ง่าย หัวใจคือจะต้อง "ไม่เสี่ยงเกินตัว" จากประสบการณ์เวลาเสี่ยงมากไม่ได้แปลว่าต้องได้มากเสมอไป ดีที่สุดคือหาจุดเสี่ยงที่เรารับได้ ผลตอบแทนต้องได้เต็มที่ ถ้ารอบใหญ่มาถึงเราต้องกินให้ได้เต็มคำ จากที่ได้สัมผัสมา นักเทคนิคมีหลายสายมากและไม่มีแนวทางไหนเทพที่สุด คนที่สำเร็จอยู่ที่การปรับใช้ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเอง

"ตัวผมเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพ รายได้หลักมาจากการเทรด ดังนั้นวิธีการของผมจะต่างจากคนอื่น อย่างเดือนนี้ทำกำไร 100% เดือนหน้าหล่นวูบ 50% แบบนี้ไม่สม่ำเสมอ ผมต้องถอนเงินในพอร์ตมาใช้จ่าย ถ้าสวิงมากจะถอนไม่ได้ จึงต้องพัฒนารูปแบบตัวเอง เทรดอย่างไรก็ได้ให้เงินเติบโตสม่ำเสมอ ขึ้นเยอะก็ดี แต่ต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะถอนมาใช้จ่ายได้"

ธำรงชัย กล่าวว่า เทรดเดอร์ในความเห็นส่วนตัวมี 3 ระดับ หนึ่ง.คือระดับเอาตัวรอดได้ (
Survivor) ต้องเทรดให้รอดก่อนอย่าหวังรวยแค่ไม่เจ๊งก็สำเร็จแล้ว เพราะคนอีก 90% เขาไม่รอด สอง.เข้าช่วงเติบโต (Growth) สม่ำเสมอ พอร์ตจะโตต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ชีวิตคนเราจะวัดความสำเร็จกันสั้นๆ ไม่ได้ สาม.สร้างความมั่งคั่ง (Wealth) หรือ สู่อิสรภาพทางการเงิน นี่คือสเต็ปท์ที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องผ่าน คนที่ใจร้อนอยากรวยเร็วๆ มักไปไม่รอด ส่วนตัวคิดว่าตัวเองเพิ่งเข้าช่วงเติบโตเท่านั้น

"ผมมองการลงทุนเหมือนปลูกต้นไม้เช่นต้นมะม่วง ปีแรกใส่ปุ๋ยลดน้ำ ต้นโตขึ้นแต่ยังเอามากินไม่ได้ ไม่พอที่จะมีอิสรภาพทางการเงินซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด เราต้องปลูกต่อไปต้นใหญ่ขึ้น ถ้าเอามาใช้ซื้ออะไรก่อนพอร์ตก็จะไม่โตเท่าที่ควร"

หยง สรุปว่า การลงทุนคือการประคองเงินและทุนให้เติบโตไปเรื่อยๆ เราต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เขาเชื่อเรื่องของ "เวลา" วันใดที่ต้นไม้เติบใหญ่แข็งแรงถึงวันนั้นดอกผลจะกินไม่หมด...ถ้าเราต้องการไปสู่อิสรภาพทางการเงิน "เราต้องอดทน"

เรื่องราวของ "เซียนเทคนิค" ยังไม่จบ สัปดาห์หน้า ธำรงชัยจะมาตีแผ่ "เทคนิคการลงทุน" รวมถึงพยากรณ์ทิศทาง
SET Index ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า ห้ามพลาดเด็ดขาด!!

คนที่จะ
'รวย' ต้องเลือก 'สินทรัพย์' ถูกตัว-ถูกเวลา (ไซด์บาร์)

ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ เล่าว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจรุ่นเก่าหลายคนที่ประสบความสำเร็จ อยู่ในวงจรธุรกิจมานาน 30 ปี ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทำงานตลอดทั้ง 30 ปี แต่พวกเขาทำงานหนักเพียงแค่บางช่วงเท่านั้น จากที่ได้คุยกับนักลงทุนที่เล่นหุ้นสมัย
SET Index 1,700 จุด ประเทศไทยสมัยยุคปี 1980-1997 (ปี 2523-2540) ใครเล่นหุ้นรวยหมดแค่ใครจับหุ้นก็รวยแล้วไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่หลังจากนั้นหุ้นก็เน่าไม่เคยไปถึงระดับเดิมอีกเลย แต่หลังปี 2000 (ปี 2543) ใครจับอสังหาริมทรัพย์ก็รวย
จริงแล้วถ้าเราสามารถจับสินทรัพย์ที่จะลงทุนถูกตัวและถูกเวลา เราจะทำงานหนักเพียงแค่ "สิบปี" ที่เหลือติดลมบนแล้ว แต่ถ้าไปเลือกลงทุนผิดตัวก็คงสร้างความมั่งคั่งได้ไม่ง่าย อย่างใครมาจับอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้ก็คงเหนื่อยแล้ว (หมดรอบแล้ว)

ส่วนตัวจึงตั้งคำถามว่าแล้วช่วง 10 ปีจากนี้ (ปี 2010-2020) สินทรัพย์ที่ควรต้องลงทุนคืออะไร..
? "หุ้นคงไม่ใช่พระเอกของรอบนี้แน่นอน" เงินมันต้องหาที่ลงไม่อันใดก็อันหนึ่ง สรุปได้ว่าอาจจะเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนตัวมองว่าโลกเราของกินของใช้แพงขึ้น อาหารผลิตมากขึ้นแต่ไม่พอกิน มีรถยนต์กับสัตว์มาแย่งส่วนของคน

"ผมมองว่า
Commodity กลุ่มอาหารและโลหะมีค่า จะเป็น "พระเอก" ถ้าจับถูกตัว เรามีโอกาสสร้างความั่นคั่งแน่...ผมให้น้ำหนัก "โกลด์" กับ "ซิลเวอร์" ไปได้ไกลแน่นอน ทองถ้าจบการย่อรอบนี้จะไปได้ไกล 2,200 เหรียญต่อออนซ์ได้เห็นแน่ และอาจเป็นแค่หนึ่งในเป้าหมายก็ได้ อีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจไม่มีปัญญาซื้อทองก็ได้ ธำรงชัย มอง
ที่มา  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นายแพทย์ ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม


คุณหมอนักเล่นหุ้น
ชื่อของน.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม โด่งดังขึ้นมาในราวต้นปี 2545
หลังจากที่เขาเข้ากว้านซื้อหุ้น บล.ซีมิโก้ จำนวน 5.095 ล้านหุ้น
จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10.87%
และใช้เวลาเพียงวันเดียวขายหุ้นทั้งหมดออกจากพอร์ต
จากนั้นชื่อของน.พ.ยรรยง
ก็ถูกดึงเข้าไปพัวพันกับสร้างราคาหุ้นของหลายบริษัท
กระทั่งมีข่าวอีกว่าหมอใช้นอมินีเข้าซื้อหุ้น บล.ยูไนเต็ด
ร่วมกับ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือเสี่ยปู่
และเพื่อนร่วมก๊วนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 14%
ในโบรกเกอร์แห่งนี้
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นตั้งคำถามว่า
ชายผู้นี้เป็นใคร?…มาจากไหน?
นักเลงหุ้นคนนี้มีความน่าสนใจมากกว่าการเป็นแค่นักเสี่ยงโชค
น.พ.ยรรยงเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2532
ขณะที่ดัชนีประมาณ 600 จุด
เคยผ่านวิกฤตการณ์ซัสดัมเมื่อปี 2533
ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
เคยผ่านยุคที่ตลาดหุ้นบูมสุดๆ เกือบ 1,800 จุด เมื่อต้นปี 2537
เคยผ่านเหตุการณ์ลอยตัวของค่าเงินบาท ปี 2540
และผ่านยุคตกต่ำที่สุดของตลาดหุ้น
ตอนดัชนีลงมาเหลือ 200 จุด เมื่อปี 2541
ไม่เพียงหมอรอดมาได้เท่านั้น
แต่พอร์ตของเขากลับขยายเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
ในยุคที่อิรักบุกคูเวตเมื่อปี 2533
น.พ.ยรรยงมีพอร์ตเล่นหุ้นเพียงแค่ 1-2 ล้านบาท เท่านั้น
แต่วันนี้พอร์ตของหมอมีมูลค่าเฉียดพันล้านบาท หมอบอกว่า
ปัจจุบันเขาซื้อขายหุ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท
หรือปีละกว่า 10,000 ล้านบาท
เริ่มลงทุนด้วยเงิน 5 แสนบาท
เรียนจบทันตแพทย์จากรั้วมหิดลใน ปี 2525
และกลายเป็นหมอฟันเด็กที่มีอนาคตรุ่งโรจน์คนหนึ่งของวงการ
โดยเริ่มต้นอาชีพหมอฟันด้วยการร่วมทุนกับเพื่อนเปิดคลินิกแถวถนนเทเวศน์
ขณะนั้นหมอมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 แสนบาท
แต่หมอกลับคิดว่า อาชีพหมอฟันไม่รวย แค่พอกินพอใช้เท่านั้น
หมอเล่าว่าเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อปี 2532 ขณะที่มีอายุประมาณ 31-32 ปี
สมัยนั้นตลาดหุ้นเปิดครึ่งวันเช้า
ช่วงเช้าหมอจะไปเล่นหุ้นช่วงบ่ายก็กลับคลินิก
หมอทำอย่างนี้ประมาณ 3-4 ปี
ก็ค้นพบว่าการเล่นหุ้นเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่าอาชีพหมอฟัน
เพราะโลกของหมออยู่แต่ภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ
ตั้งแต่เช้ายันเย็น
ผมชอบเล่นหมากรุก การเล่นหุ้นก็เหมือนการเดินหมาก
ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา
ก็เลยตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอฟันมาเล่นหุ้น
ทั้งที่ตอนนั้นรายได้จากการเล่นหุ้นน้อยกว่ารายได้จากการทำฟัน
หมอเล่าให้ฟัง
ตอนที่เริ่มสตาร์ทผมลงเงินไป 500,000 บาท
ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามีราคาถูก
ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มีพี/อี เรโชต่ำ
และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก
นั่นคือสิ่งที่หมอบอกว่า
เขาเริ่มต้นเล่นหุ้นจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลย
ประสบการณ์เล่นหุ้นช่วงแรกๆ จึงไม่ราบลื่น สิ่งที่หมอคิดว่า
ราคาถูกและ ปลอดภัย
กลับตรงกันข้าม เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอดจนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท
สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้วค่อยๆ เรียนรู้
ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!
ตามความเห็นของหมอ หุ้นเป็น “Dynamic” ฉะนั้น 1+1
ในตลาดหุ้นไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2 เสมอไป
ทฤษฎีการลงทุนบางครั้งก็ใช้ไม่ได้
แต่ต้องให้ประสบการณ์เป็นครู
ผมก็กลับมาทบทวนดูว่า ต้องเปลี่ยนวิธีเล่นใหม่
ก็ตั้งเป็นเกณฑ์ว่า เมื่อไรที่เราเล่นหุ้นมีกำไร
นั่นแหละวิธีการที่ถูก
เมื่อใดที่เราเล่นหุ้นขาดทุนนั่นแหละวิธีการที่ผิด
เขาจึงได้บทสรุปว่าจงทำตามแนวโน้มตลาดอย่าฝืนเอาชนะ
ดังนั้นกฎข้อแรกที่หมอได้เรียนรู้
ก็คือหุ้นยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ หุ้นยิ่งตกต้องยิ่งขาย
เขาเชื่อในตรรกะที่ว่าในสวรรค์ยังมีสวรรค์ ในนรกยังมีนรก
ทำให้เขาค้นพบว่าวิธีการเล่นหุ้นที่ดีที่สุดต้องเล่นหุ้น
ตามกระแสจึงอยู่รอดในวงการนี้
ค้นพบทฤษฎี จำกัดความเสี่ยง
วิกฤติตลาดหุ้นในปี 2533 คือ บททดสอบแรกของหมอ
หมอยังจำได้ว่าวันที่อิรักบุกคูเวต
( 2 สิงหาคม 2533) หมอตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดออกจากพอร์ต
เพื่อลดความเสี่ยง
เหตุการณ์ครั้งนั้นหมอได้ค้นพบหลักการลงทุนที่เรียกว่า
ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง
ซึ่งได้เปลี่ยนวิธีลงทุนของเขาอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่บัดนั้น
หลักคิดของมัน ก็คือ
อะไรที่คุณไม่รู้คือความเสี่ยง
อะไรที่คุณรู้คือไม่เสี่ยง
นี่คือหัวใจของการจำกัดความเสี่ยง
ตอนนั้นผมยังเล่นหุ้นไม่เยอะ อยู่ในช่วงของการเรียนรู้
พอร์ตของผมตอนนั้นประมาณ 1-2 ล้านบาท
ช่วงนั้นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด ก็คือความระมัดระวัง
เพราะผมเห็นคนล้มตายเยอะ
ทุกคนที่เจ๊งหุ้นเหมือนกัน คือ ไม่ยอม “Stop Loss”
ทำให้ผมเข้าใจว่าถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน
เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง
วิธีการของหมอคือ พยายามทำให้ความเสี่ยงเป็น ศูนย์
โดยวิธีเล่นหุ้นขาขึ้น หยุดเล่นหุ้นขาลง
และต้องชิงตัดขาดทุน (Cut Loss)เสียแต่เนิ่นๆ
ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย
ตอนที่อิรักบุกผมไม่มีหุ้นเลย สมมติว่าวันนี้หุ้นขึ้นผมจะเล่น
แต่ถ้าหุ้นลงผมจะหยุดเล่น
ผมก็เลยขาดทุนน้อย แต่คนที่คิดว่าพรุ่งนี้จะดีดกลับ
ส่วนใหญ่จะเจ๊ง
หมอบอกว่าปรัชญาการจำกัดความเสี่ยงอะไรที่ผมไม่รู้ ผมไม่เล่น
เราไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน สิ่งที่เราไม่รู้
คือความเสี่ยง ดังนั้นจึงเลือกตัดนิ้วทิ้ง 1 นิ้ว
ดีกว่าจะต้องเสียทั้ง 5 นิ้ว เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ายังเหลืออีก
4 นิ้วชัวร์ๆ ถ้าไม่ยอมตัดทิ้ง
จะไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเสียอีกกี่นิ้วนี่คือวิธีคิดของเขา
แต่หมอก็มาพลาดจนได้เมื่อ ซัสดัม ฮุสเซ็นประกาศจะยอมแพ้
หมอรีบเข้าไปซื้อหุ้นเข้าพอร์ต
เพราะเก็งว่าวันที่ซัสดัมประกาศยอมแพ้หุ้นจะดีดกลับ
แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร
ทีแรกซัสดัมบอกว่าจะยอมแพ้ จู่ๆ ออกมาบอกใหม่ว่าไม่ยอมแพ้แล้ว
หุ้นก็ตก ผมก็ขาย
โดยปกติถ้าขาดทุนเกิน 5% ผมจะขาย ก็เลยหุ้นซื้อแพง ขายถูกอยู่
3-4 ครั้ง ก็กลับมาคิดว่า
เล่นอย่างนี้เราเจ๊ง ต้องหยุดเล่น และถอยออกมาตั้งหลัก
หมอบอกว่า
การยอมรับข้อผิดพลาดทำให้เขาค่อยๆพัฒนาวิธีเล่นหุ้นขึ้นมาเป็นลำดับ
การเล่นหุ้นโดยส่วนใหญ่มันมีโง่มีฉลาดเป็นเรื่องปกติ
แต่คนที่จะประสบความสำเร็จกับหุ้นอย่าคิดว่าตัวเองฉลาด
เพราะตราบใดที่เราคิดว่าตัวเองฉลาดจะไม่พัฒนา
แต่ทุกครั้งที่เรายอมรับข้อผิดพลาด
เราก็จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆหมอยึดถือความผิดพลาดเป็น ครูมาตลอด
เข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว ในปี 2534
หลังจากตลาดเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แทนการเคาะกระดานซื้อขาย
พอร์ตของหมอก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
พอประกาศลดค่าเงิน ผมมองว่าฝรั่งจะเข้ามา
เพราะมันเป็นตรรกะเลยว่าถ้าเงิน 1 ดอลลาร์
เคยแลกได้ 25 บาท แล้วจู่ๆ 1 ดอลลาร์แลกได้ 50 บาท
ต้องมีเงินไหลเข้ามา ผมฟันธงว่ายังไง ! หุ้นต้องขึ้น
ผมก็มาประเมินว่าถ้าฝรั่งเข้าต้องเล่นแบงก์ใหญ่
ผมก็เข้าเก็บหุ้นกสิกรไทย หุ้นแบงก์กรุงเทพ
และวอร์แรนท์กสิกรไทย
เพราะผมมองว่าถ้าหุ้นแม่ขึ้นวอร์แรนท์ก็ต้องขึ้น
ตอนนั้นผมได้กำไรมาเยอะมาก
หลังจากนั้นพอร์ตของหมอก็โตขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะเมื่อจับจุดได้ว่าฝรั่งชอบซื้อหุ้นตอนต้นปี
ฉะนั้นปลายเดือนธันวาคม จะซื้อหุ้นเก็บไว้ก่อน
จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ต้นปีหุ้นจะขึ้น สมัยก่อนเล่นหุ้นง่ายมาก
เงินฝรั่งเข้ามาวันละ 3-4 พันล้านบาท
หุ้นตัวไหนขึ้นแรงๆ นั่นแหละฝรั่งซื้อ เราก็เกาะฝรั่ง
เวลาเขาเหนื่อยแรงเราก็ขายออก
ตอนนั้นเวลาฝรั่งเข้าจะซื้อติดต่อกันเป็นอาทิตย์
พอเราซื้อเสร็จเราก็ถือไปเรื่อยๆ
ผมจะจับตามองตลอดเวลา ถ้าฝรั่งเริ่มไม่ซื้อผมก็หาจังหวะขายออก
ผมเล่นหุ้นอย่างนี้บางอาทิตย์ได้กำไร 40-50% ”
หมอบอกว่า ณ เวลานั้นมองกลไกตลาดออกว่าคนนำตลาด คือฝรั่ง
จึงเล่นหุ้นตามฝรั่ง
แต่ตอนนี้กลไกที่นำตลาดคือ คนไทย
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
ผมดีมาตลอดเพราะวิธีจำกัดความเสี่ยงของผมถูก
อีกอย่างหนึ่งผมจะเล่นหุ้นเป็นจังหวะ
ผมจะเหมือนกับเหยี่ยวที่บินมาโฉบเหยื่อแล้วก็บินไป
รอจังหวะมาโฉบเหยื่ออีกครั้ง ผมจะลงไปเฉพาะชัวร์ๆ
เมื่อไรที่ผมไม่แน่ใจจะหยุดดู และถอนการลงทุน
ทุกวันนี้น.พ.ยรรยงกล้าพูดว่าเขาเล่นหุ้นเก่งกว่าฝรั่ง
ซึ่งเขามองว่าวิธีการเล่นหุ้นของฝรั่งค่อนข้างหมู
แค่ผมเกาะฝรั่งไปเรื่อยๆ ผมแทบไม่มีความเสี่ยงเลย
ผมจะถือคติว่าเข้าพร้อมฝรั่ง แต่ออกก่อนฝรั่ง
ทำ Arbitrage ทุกครั้งที่มีโอกาส
ความเป็นนักแสวงหาโอกาสของหมอยังฉายแววโดดเด่น
เมื่อเขาใช้วิธีทำ Arbitrage หรือ
การทำกำไรจากสองตลาด ด้วยการเข้าประมูลหุ้นของ ปรส.นอกตลาด
แล้วนำมาขายในตลาด
ได้กำไรจากส่วนต่างราคา “Discount” 20% โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย
ตอนนั้นทุกวันศุกร์ ปรส.จะนำหุ้นออกมาประมูล ตัวแรกที่ประมูลคือ
หุ้น S-ONE
จำได้ว่าในกระดานราคา 7 บาท ผมใส่ซองประมูล 5.50 บาท
กลยุทธ์ของผมจะตั้งราคา
Discount 20% ประมูลไปตามกำลังเงิน 7 ล้านหุ้น 10 ล้านหุ้น
พอเราได้หุ้นวันจันทร์ผมก็ขาย
เวลาแค่เสาร์-อาทิตย์ ยังไงก็จำกัดความเสี่ยงได้อยู่แล้ว
ผมถามว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน!ไม่มีเลย
แต่ไม่เห็นมีใครมาประมูลแข่ง
หมอเล่าว่ามีประมูลทุกศุกร์ ผมก็ได้เงินทุกศุกร์
ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม! ไม่มีคนซื้อ
ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ของดีไปหมดแล้ว
ตอนหลังเหลือแต่หุ้นที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง
แต่ผมก็ยังประมูลเพราะเห็นว่าราคามันถูก
หลังจากนั้นเขาก็ยังทำกำไรจากหุ้นที่ถูกทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์
อีกหลายครั้ง
ด้วยวิธี Arbitrage เหมือนเดิม
ตัวที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ GSS เขาทำเทนเดอร์ฯในราคา 155 บาท
ณ วันที่ประกาศมีราคา Discount อยู่ 25% ภายในระยะเวลา 3 เดือน
ผมได้ผลตอบแทนชัวร์ๆ 25% โดยไม่มีความเสี่ยง….แล้วทำไม!
ผมจะไม่ลงทุน
ขาดทุน 30 ล้านบาท มากที่สุดในชีวิต
ในวงการค้าหุ้นบางคนอาจจะมองเขาว่าเป็นนักฉวยโอกาส
แต่หมอมองตัวเองว่าเป็น
นักแสวงหาโอกาสมากกว่า
ทุกเช้าหมอจะตื่นเช้ากว่าปกติเพื่อให้เวลากับการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ
และเลือกหุ้นตัวที่เชื่อว่านักเล่นหุ้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
แต่หมอจะไม่ค่อยใส่ใจกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคมากนัก
แต่จะให้ความสนใจกับหุ้นที่มีข่าวดีมากกว่า
โดยปกติเขาจะไม่เคยหัวเสียเมื่อหุ้นตก
เพราะหมอบอกว่าเวลาหุ้นตก….ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยมีหุ้น!
ผมจะหัวเสียมากที่สุด ตอนที่เรารู้สึกว่าตัวเองโง่มากกว่า
มีเรื่องโง่อมตะที่หมอชอบเล่าให้ใครฟังบ่อยๆ
ตอนซื้อหุ้น FAS(บล.เอกเอเซีย ขณะนั้นมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง
เป็นกรรมการผู้จัดการ)
เป็นความโง่ที่ผมประทับใจที่สุด คือ โง่เพราะอ่านภาษาอังกฤษผิด
ข้อแรก ผมเข้าใจว่าให้เอา 2 หุ้น FAS ไปแปลงเป็น 1 หุ้น S-ONE
ข้อสอง สามารถแลกเป็นเงินได้ในราคา 280 บาท
ผมก็คิดว่าข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 ทำแบบไหนก็ได้ กะว่าจะทำ “Arbitrage”
ผมซื้อไปประมาณ 100 กว่าล้านบาท ตอนนั้นหุ้น FAS ตกไป 25%
ผมขาดทุนไป 30 ล้าน
มากที่สุดในชีวิต ผมก็คิดว่าทำไม! หุ้นมันถึงตกทุกวัน
เราก็ไปโทษคนอื่นว่าทำไม!
มันโง่จังว่ะ หุ้นตกแล้วไม่ซื้อกำไรเห็นๆ
ที่ไหนได้พอโทรศัพท์ไปถามที่ S-ONE
เขาบอกว่าคุณอ่านภาษาอังกฤษผิด
งานนั้นผมบอกตัวเองว่าโอโห้!เราโคตรโง่เลยว่ะ
เงินเป็นแค่ วัตถุใช้ซื้อความสุขไม่ได้
ไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังนักเลงหุ้นพันล้านอย่างน.พ.ยรรยงกลับเรียบง่าย
เป็นนักเล่นหุ้นติดดิน
จนอาจจะเรียกว่าหลุดกรอบวิถีชีวิตของคนรวย
ตรงข้ามกับวิธีคิดที่เฉียบคม
และอยู่ในขั้นปราดเปรื่องคนหนึ่งของวงการ
ผมว่าความสุขมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ
ไม่ใช่ว่ามีบ้านใหญ่แล้วจะนอนหลับ มันไม่เกี่ยว
ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเงินคุณซื้อได้ ตอนนี้ผมอายุ 44 ปี
อย่างมากผมก็อยู่ได้อีก 30 ปี
ยังไงผมตายไป เงินผมก็ยังเหลือหมอบอก Biz&Money ไว้อย่างนั้น
คำนิยาม ความสุขของน.พ.ยรรยง จึงแตกต่างจากหลายคน
หมอบอกว่า
นักเล่นหุ้นทั่วไปที่เขารู้จักส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบทั่วๆ ไป
แต่สำหรับผมจะหลุดกรอบออกมา อย่างเช่น เมืองนอกผมจะไม่ไปเลย
จำได้ว่าเคยไปไกลสุด คือ สิงคโปร์ ผมชอบเที่ยวเมืองไทยมากกว่า
ผมชอบการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ
ไปกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ….นี่แหละคือความสุขของผม
วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หมอชอบไปดูหนัง
แต่วันธรรมดาหลังตลาดหุ้นปิดทุกเย็นหมอชอบไปวิ่งที่สวนลุม
เขาให้เหตุผลว่าบรรยากาศก็ดี
และไม่ต้องเสียตังค์วันไหนที่หุ้นตก ก็จะวิ่งหลายรอบหน่อย!
แต่หมอไม่ชอบไปตีกอล์ฟ และจะเข้าฟิตเนสเป็นบางครั้ง
แต่จะไม่เลือกที่เป็นของฝรั่ง
(ที่อยู่ในตึกที่หมอเล่นหุ้น) ซึ่งเขาบอกว่า ค่อนข้างจะ Anti
ฝรั่งในเรื่องนี้
โดยชีวิตส่วนตัวหมอบอกว่าตัวเองเป็นคนใช้เงินไม่เก่ง
“10 ปีที่แล้วผมใช้เงินยังไง!
วันนี้ก็ยังใช้เงินยังงั้น
ปรัชญาของผมคิดว่าความสุขมันไม่ได้อยู่ที่เงิน
การที่ผมทำเงินได้มาก เป็นเพราะผมชอบงานทางด้านนี้
ผมจะภูมิใจทุกครั้งที่ผมชนะมันมากกว่า
แต่การใช้ชีวิตกลับตรงกันข้าม
ยกตัวอย่างนาฬิกาทุกวันนี้เขาใส่ไซโก้เรือนละ 9 พันบาท
ถ้าเป็นเพื่อนๆ เขาก็ใส่โรเล็กซ์
ตัวผมไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้
ผมมองว่าคุณค่าในตัวผมมีค่ามากกว่าพวกเสื้อผ้า รองเท้า
หรือนาฬิกามาก ผมเดินไปไหน คนที่รู้จักเขาก็รู้ว่าผมรวยอยู่แล้ว
ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องใส่ของแพงๆ
เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าผมรวย
หมอยังกล่าวอีกว่าสไตล์การใช้ชีวิตจะเน้นแบบง่ายๆ
ชอบซื้อเสื้อผ้าลดราคา
และรถที่ใช้ทุกวันนี้ก็เป็นรถเก่า
ผมไม่เคยซื้อรถป้ายแดงใช้
เพราะผมมองว่าราคารถใหม่มันสูงเกินไปสำหรับเมืองไทย
รถยุโรปราคาคันละ 1-2 ล้านบาท ผมรออีก 3 ปี
ผมสามารถซื้อมันในราคา Discount 50%
ผมซื้อรถผมไม่ได้ขับไปโชว์ใคร แต่ผมจะดูสมรรถนะของมันมากกว่า
ปัจจุบันนี้หมอใช้รถวอลโว่ 850 ซึ่งเขาบอกว่าใช้มาแล้ว 6 ปี
ทุกครั้งที่จะซื้ออะไร?
หมอจะมองที่ประโยชน์ของมันมากกว่า
ซื้อนาฬิกาค่าของมันอยู่ที่เวลา
ซื้อรถยนต์ ค่าของมันอยู่ที่สมรรถนะในการขับ
นี่คือคอนเซ็ปท์การใช้ชีวิตของผม
อย่างเงินผมได้มาหลายร้อยล้านบาท ผมมี 500 ล้าน
หรือมี 1 พันล้านบาทวันนี้ สำหรับผมมันไม่ได้ต่างกัน
มันก็แค่ตัวเลข ยังไง! ผมก็ใช้ไม่หมด
ทุกวันนี้ส่วนตัวใช้เงินแค่ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น
เงินที่หามาได้ ส่วนหนึ่งหมอจะแบ่งไปทำบุญ
ตอนนี้ผมเอาไปทำบุญกับมูลนิธิสัตว์
ซื้ออาหารเลี้ยงหมา แมวจรจัดเดือนละ 1 แสนบาท
ผ่านมูลนิธิของพี่สาวผม
อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กับเด็กสถาบันราชภัฏ
เป็นกองทุนประมาณ 5 แสนบาท ถ้าหมดก็ให้มาขอ คือ
ถ้าผมทำอะไรเพื่อสังคมได้
ผมก็ทำ มันก็เป็นความสุขอีกอันหนึ่ง
หมอกล่าวว่าทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่า การเล่นหุ้นเป็นการหาเงิน
ผมไม่เคยมีเป้าหมายว่าจะต้องได้เงินเท่าไร?
แต่ผมคิดว่าการเล่นหุ้นมันเป็นความสุข
มันท้าทายวันนี้ถ้าผมลงทุนผิด
ผมจะต้องไปนอนคิดว่าทำไม! มันถึงผิด
ความฝันของหมอคือ เป็นเจ้าของโบรกเกอร์
อยากใช้เวทีนี้ให้ความรู้กับนักเล่นหุ้น
ผมตั้งใจมานานแล้วก่อนหน้านี้เคยยื่นประมูล บล.ธนสยาม กับ
บล.วชิระ ซิเคียวริตี้ส์
แล้วไม่ได้ จึงเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ บล.ยูไนเต็ด
ใจของผมคืออยากเผยแพร่วิธีการเล่นหุ้นว่าทำไม!
ผมถึงเล่นหุ้นแล้วได้กำไร
จริงๆ แล้วตอนนี้ผมมองเงินเป็นแค่วัตถุอย่างหนึ่ง
ผมไม่ได้นอนนับเงินแล้วมีความสุข
เดี๋ยวนี้มีหลายร้อยล้านผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ยังใส่รองเท้าแตะมาเล่นหุ้นทุกวัน
เงินสำหรับผมมันก็เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้นเองเขากล่าว
ทั้งหมดนี้คือ ตัวตนที่แท้จริงของน.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม
ผู้ร่ำรวยมาจากการเล่นหุ้น
แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดกอบโกยความสุขจากเงินที่หามาได้
ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์ที่พบมาจริงในตลาดหุ้น ของ "เสี่ยยักษ์"


"เฮียประธาน เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย..เขาจะมาซื้อหุ้น"

การเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ "นิสัย" และ "พฤติกรรม" ของคนเล่นหุ้น ถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน

"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ นำประสบการณ์ที่พบมาจริงในตลาดหุ้น ในช่วง 20 ปี มาถ่ายทอดให้ฟัง โดยระบุถึง "นิสัยคน" ที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ดังนี้...

คนแรก..คนนี้อายุมากแล้ว แต่ "ไม่ยอมปรับตัว" ประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีเงินหลายสิบล้านบาท สุดท้ายก็มาล้มเหลวในตลาดหุ้น

คนที่สอง..เป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก ศึกษาข้อมูลตลอดเวลา มีความมั่นคง คนนี้เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ เขาก็ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น

คนที่สาม..ไม่เก่งอะไรเลย อ่อนน้อมถ่อมตน บริการคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนรัก ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อน คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนเอื้อเฟื้อ(บอกหุ้น)เขา ไม่มีใครไปหลอกเขา

คนที่สี่..ไม่ประสบความสำเร็จ นิสัยตรงกันข้ามคนอื่นตลอดเวลา เพื่อนบอกแบบนี้มันก็เถียงว่าต้องเป็นแบบนั้น เป็นคนไม่คิดอะไรลึกๆ ชอบสวนชาวบ้าน คือ เหรียญมันมี 2 ด้าน พูดเข้าข้างตัวเองยังไงก็ได้ ไม่เคยโทษตัวเอง คนนี้เจ้าของฉายาว่า "รู้อย่างงี้..." มีเงินหลายสิบล้านบาทเข้ามาตลาดหุ้น ตอนนี้ก็เหลือไม่เยอะ

คนที่ห้า..ทำการบ้านตลอดเวลา(แอบ)เช็คพอร์ตคนอื่นตลอดเวลา ชอบคุยกับมาร์เก็ตติ้งของรายใหญ่ เพื่อแอบดูพอร์ตคนอื่น คนนี้ก็ประสบความสำเร็จ แต่เขาตีกอล์ฟคนเดียวไม่มีเพื่อน ขนาดนั่งกินข้าวกับมาร์เก็ตติ้งยังหารค่าอาหารกันเลย นี่เขาก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

คนที่หก..ย้ำคิดย้ำทำ เสียดายตลอดเวลา คิดแล้วคิดอีก เป็นคนละเอียด ไม่เอาเปรียบเพื่อนฝูง คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้

"นี่ผมเล่าให้ฟังถึงนิสัยของแต่ละคนเพื่อจะบอกว่า คนแต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน และก็มีช่องทางประสบความสำเร็จของแต่ละคน แล้วแต่เราจะเลือกทางเดินแบบไหน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ไม่เกินความสามารถของทุกคน"

เสี่ยยักษ์ยังเล่าถึง ความเหนือชั้นของอดีตเซียนหุ้นคนหนึ่ง ชื่อ "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา(เสี่ยยักษ์ และเพื่อนๆ ในกลุ่ม) "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เฮียประธาน จะบินมาเลย "เขาจะมาซื้อหุ้น"

"สมัยก่อน ผมยกย่องเขามากว่า นี่คือ สุดยอดของ "เสือ" ตัวจริง คือเขารวยอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่มาเล่นหุ้นทุกวัน ถึงแม้จะไม่มาตลาดหุ้น แต่เขาจะติดตามหุ้นอยู่ที่บ้านเป็นประจำ เวลานี้เขาก็ยังเป็นอย่างงั้นจริงๆ เล่นหุ้นอย่างนี้ก็ประสบความสำเร็จได้"

อีกคนหนึ่งที่ เสี่ยยักษ์ ยกตัวอย่างให้ฟังด้วยความชื่นชม เขาชื่อ "สุวิทย์" เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ คนคนนี้ มีระเบียบวินัยมาก เวลาไม่ซื้อ คือไม่ซื้อ ถ้าเขามองเศรษฐกิจไม่ดี เขาจะไม่เล่นหุ้น(เลย) นี่คือ หลักการที่ถูกต้อง

"อย่างสุวิทย์ เขาจะรอให้เกิดวิกฤติก่อน(หุ้นตกเยอะๆ) นานแค่ไหนเขาก็รอได้ วันที่เกิดวิกฤติ เขาจะมาซื้อหุ้น ตอนนี้ ก็น่าจะมีเงินเป็นร้อยล้าน"

เมื่อถามถึงการลงทุนสไตล์ "หมอ ยง" ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม นักลงทุนรายใหญ่ระดับพันล้านบาท

เสี่ยยักษ์ บอกว่า หมอ ยง จะมีจิตวิทยาการลงทุนสูง ถ้าตลาดหุ้นตกลงมาเยอะๆ เขาซาวด์เสียงว่า ถ้านักลงทุนรายใหญ่ทุกคน "กลัว" กันหมด แสดงว่า พวกคุณเพิ่ง "โดน" (ขาดทุน) มา คุณเพิ่ง Cut Loss มา เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะขายอีกก็มีไม่มาก "เขาจะซื้อ"

"แต่สไตล์การลงทุนของผม กับ หมอ ยง จะต่างกัน หมอ ยง จะเล่นหุ้นเป็นรอบ(เล็กเล่นเร็ว)แต่ของผมจะรอ "รอบใหญ่" ขอทีเดียวหนักๆ ลักษณะใส่เต็มๆ ไปเลย ถ้าทุกคนกลัวกันหมด เครื่องมือเครื่องไม้ทางเทคนิคส่งสัญญาณซื้อ ผมก็เข้า ถ้ายัง..ผมก็รอนิ่งๆ"

เสี่ยยักษ์ บอกว่า อยู่ในวงการนี้มา 20 กว่าปี เห็นพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนเปลี่ยนไม่ค่อยได้ ใครนิสัยมายังไง บุคลิกยังไง วิธีการมันจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จ มันแล้วแต่สไตล์คน แต่คนที่อยู่รอดได้ มีแค่ประเภทเดียว คือ "คนที่ปรับตัว"

นอกจากนี้ คนที่จะ "อยู่รอด" บนเวทีนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เสี่ยยักษ์ ย้ำนักย้ำหนาว่า ข้อสำคัญที่สุด คือ "ถึงเวลาขาดทุน..คุณต้องกล้าขาย" ถ้าคุณทำได้ "คุณจะรอด"

พร้อมทั้งยังเล่าถึง "นักพนัน" ที่อยากมาเอาดีในตลาดหุ้นว่า คนที่ชอบเล่นการพนัน แล้วมาเล่นหุ้น ก็ "เจ๊ง" ได้ง่ายๆ

"ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นที่เป็นนักพนัน เอาทุกอย่าง เห็นมาเยอะ "หมดตัวทุกคน" ไม่เหลือเลย มีคนหนึ่ง เมื่อก่อนเคยมีเงิน 30 กว่าล้านบาท เล่นทุกอย่าง ฟุตบอลก็เล่น หุ้นก็เล่น บ่อนการพนันก็เข้า สุดท้ายแม้แต่ชีวิตครอบครัวเขาก็ล้มเหลว

...ชีวิตเขาพนันทุกอย่าง มีเงิน 20-30 ล้านบาท เคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าในประตูน้ำ ตอนนี้ มาเช่าบ้านอยู่ราคา 2,000 บาท จุดเสีย..ของคนประเภทนี้ คือ เขาจะยืมเงินทุกคน แล้วเขาจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ทุกอย่างกลับมาที่เครดิต ถ้าคุณไม่มีเครดิต ก็ไม่มีใครช่วยเหลือคุณ นี่คือ ความจริง" เสี่ยยักษ์ สรุปถึงนิสัยของคนเล่นหุ้นแต่ละประเภทให้ฟัง

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์

      ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย  จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น  นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว  ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน  หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย  นอกจากนั้น  เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก  “ธุรกิจ”  เขาเป็นแค่  “นักลงทุน”  มาตลอดชีวิต  ดังนั้น  นักลงทุนหนุ่ม ๆ  จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด  “อาชีพ”  การเป็น  “นักลงทุนตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์   แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ?   ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร
      พูดถึง เงินเริ่มต้นของบัฟเฟตต์ก่อน  ตาม  “ตำนาน”  นั้น  บอกว่าบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง  100 เหรียญหรือไม่กี่พันบาทไทย  แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี  “รายได้อื่น”  เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ  ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้  บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก   แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  ในช่วงต้น ๆ  ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น  “รายได้ส่วนน้อย”   รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น  “รายได้อื่น”  ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง  นั่นก็คือ   เป็นรายได้จากการ  “รับจ้างลงทุน”  ซึ่งก็คือ  ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร   รายได้ส่วนนี้  บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ  และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด  เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก  ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50%  ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญเมื่อเขาอายุ 38 ปี  และนี่คือการจบ  “บทที่หนึ่ง”  ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์
      บทเรียนของ บทที่หนึ่งก็คือ  ในช่วงแรก ๆ  ที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น  คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน  ในเมืองไทยเองนั้น  การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย  ยิ่งกว่านั้น  การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น  มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น  “เซียนหุ้น”  ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้  การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น  ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก   ว่าที่จริง  บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่า นั้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ   ดังนั้น  ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน  สิ่งที่ควรทำก็คือ  ทำงานหาเงินมาเพิ่ม  “พอร์ตเริ่มต้น”  ให้มากพอจนกระทั่ง  “เงินจากการลงทุน”  จะมากกว่าเงินจากการทำงานมาก ๆ  และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม  “บทที่สอง
      บทที่สองของบัฟเฟตต์ก็คือ  การลงทุนเพียงอย่างเดียว  นั่นก็คือ  การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ  รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี  ในช่วง 10 ปีนับจากปี 1969 ถึง 1979  ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น   ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึง สองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง  ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7%  ต่อปีโดยเฉลี่ย   อย่างไรก็ตาม  พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5%  เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8%  และนี่คือศิลปะแห่งการ  “เอาตัวรอดในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์
      ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของบัฟเฟตต์คือช่วงปี 1979-1989 นั้นเป็นช่วง ฟื้นตัวของตลาดหุ้น  ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5%  แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1%  ชนะตลาดถึง 26.6%  ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 1989
      ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 นั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน  ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย  พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า นั้น  ส่วนหนึ่งก็คือ  ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตซึ่ง บัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน  ดังนั้น  ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5%  โดยเฉลี่ย  และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1%  ในปี 1998  บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วย ความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ   เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา
      ช่วงสิบปีสุดท้ายคือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้นเป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น  ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม  ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย  พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9%  อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็คจึงไม่ถูกกระทบมากนัก  ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6%  นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูงแต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน  นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามากจนการทำผลตอบแทนที่สูง มากนั้น  ทำได้ยากขึ้นมาก
      ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43%  เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24%  ต่อปี  เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19%  ต่อปีนั้น  เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของบัฟ เฟตต์
การ เดินทางของบัฟเฟตต์นั้น  เป็นเส้นทางที่ ขีดเขียนขึ้นด้วยฝีมือและ  แน่นอน  ด้วยดวงชะตา  เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก  “ขีดเขียนขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ  ของชีวิต  ว่าที่จริง  VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น  เพิ่ง  “เริ่มเดินทาง”  หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง  บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ  แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น  ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก  และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาก ๆ  ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก  ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์


ที่มา http://www.thaivi.com

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ดร.นิเวศน์ วิเคราะห์หุ้นแบบ VI

           นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่บริหารกองทุนรวมที่ต้องลงทุนซื้อหุ้นจำนวนมากต่างก็อาศัยบทวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์หุ้นมืออาชีพ แต่ผมเองแทบไม่ดูบทวิเคราะห์เหล่านั้นเลย เหตุผลก็เพราะวิธีการลงทุนของผมนั้น เป็นการลงทุน ซื้อธุรกิจซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว อย่างน้อยก็ 3- 5 ปี ขึ้นไป ซึ่งไม่มีบทวิเคราะห์ไหนทำ บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์นั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด มองไปที่ผลประกอบการอย่างมากก็ 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น พวกเขาก็มักจะดูว่าบริษัทจะมีกำไรเท่าไรอิงจากผลประกอบการในปีปัจจุบัน โดยนำเอาภาวะของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาเป็นตัวประกอบ ส่วนผมเองนั้น ผมจะสนใจในด้านของ โครงสร้างซึ่งเป็นเรื่องที่ถาวรกว่าและไม่ค่อยจะขึ้นกับภาวะแวดล้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งโดยนัยนี้ ผมจึงไม่ค่อยสนใจภาวะเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลง แต่ผมจะสนใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมว่า ในธุรกิจนั้นมีการแข่งขันกันอย่างไร สนใจว่าบริษัทมีจุดเด่นหรือจุดอ่อนอย่างไร ใครคือ ผู้ชนะหรือจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน
            การวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวนั้น แน่นอน จะต้องดูรายละเอียดของแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม มี โครงสร้างและข้อมูลของธุรกิจบางอย่างที่เป็นตัวบอกว่าเรากำลังเจอธุรกิจที่ดีหรือไม่ดีได้ ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถนำมาให้คะแนนเพื่อที่จะสรุปว่าบริษัทที่เราดูอยู่เป็นอย่างไร ลองมาดูรายการที่สำคัญ ๆ
             1. ข้อมูลตัวแรกก็คือ กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE นี่คือข้อมูลที่ดูง่ายและมีประสิทธิภาพสูง บริษัทที่มี ROE สูงคือบริษัทที่ดี ยิ่งสูงก็ยิ่งดี แต่ต้องดูว่าเป็นการสูงอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปกติ ไม่ใช่สูงแค่ปีสองปีหรือในยามที่อุตสาหกรรมกำลังเป็นขาขึ้น หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการให้คะแนนก็คือ ถ้าบริษัทมี ROE ตั้งแต่ 15% ขึ้นไป เราก็ให้คะแนน บวกหนึ่ง ถ้า ROE ตั้งแต่ 10-15 ให้คะแนนเท่ากับศูนย์ ถ้า ROE ต่ำกว่า 10% ลงมาให้คะแนนติดลบหนึ่ง คะแนนที่ได้นี้จะเก็บไว้รวมกับคะแนนของข้อมูลตัวต่อไปเพื่อหาคะแนนรวมของบริษัท
             2. ข้อมูลตัวที่สองก็คือ กระแสเงินสดของกิจการ ถ้ากิจการขายสินค้าแล้วได้เป็นเงินสดในขณะที่เวลาซื้อสินค้าจ่ายเป็นเงินเชื่อ กระแสเงินสดของกิจการก็จะดี ความจำเป็นต้องระดมเงินมาใช้จากภายนอกเช่นการกู้เงินหรือออกหุ้นก็จะน้อยและจะเป็นผลดีต่อบริษัท เกณฑ์แบบง่าย ๆ ก็คือ ถ้า บริษัทมีเจ้าหนี้การค้ามากกว่าลูกหนี้การค้ามากเช่นในกรณีของผู้ค้าปลีกหรือ บริษัทที่ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดี ให้คะแนน บวกหนึ่ง ถ้าเจ้าหนี้และลูกหนี้พอ ๆ กันเช่นในกรณีของโรงงานผู้ผลิตจำนวนมาก แบบนี้ให้คะแนนศูนย์ ในกรณีของบริษัทที่มีลูกหนี้การค้ามากแต่มีเจ้าหนี้การค้าน้อย นั่นคือคนที่ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อแต่ต้องจ่ายค่าสินค้าหรือวัตถุดิบในการผลิตเป็นเงินสด เช่น ผู้ค้าส่งที่นำสินค้ามาจากต่างประเทศ แบบนี้ก็ให้คะแนน ลบหนึ่ง
              3. ข้อมูลตัวที่สามซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างสำคัญก็คือ ความสามารถในการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทสามารถปรับราคาได้ค่อนข้างจะเร็วหรือทันที ความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะขาดทุนจากสต็อกสินค้าก็ไม่มีและจะทำให้สามารถรักษาระดับของกำไรได้ค่อนข้างแน่นอน บริษัทที่มีลักษณะของธุรกิจแบบนี้มักจะมีอำนาจทางการตลาดสูง เราให้คะแนน บวกหนึ่ง บริษัทที่สามารถปรับราคาได้แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นภายใน 3 เดือน แบบนี้ให้คะแนนศูนย์ นี่คือบริษัททั่ว ๆ ไปที่มักไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ซื้อได้ทันทีเพราะมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง บริษัทที่ไม่มีอำนาจทางการตลาดเลยและเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่บริษัทไม่สามารถกำหนดราคาได้เลย เช่น ราคาน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก และผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ แบบนี้เราให้คะแนน ติดลบหนึ่ง
                4. บริษัทที่เป็น Dominant Firm คือมีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมาก มักจะมีความได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของต้นทุน ดังนั้น เราให้คะแนน บวกหนึ่ง บริษัทตั้งแต่อันดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ Dominant Firm จนถึงอันดับประมาณ 3 ของอุตสาหกรรม ให้คะแนนศูนย์ บริษัทที่มีอันดับหลังจากนั้นให้คะแนน ติดลบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิสูจน์หรือเชื่อได้ว่าขนาดของกิจการไม่ได้มีผลต่อต้นทุนหรือความได้เปรียบอย่างอื่นในการแข่งขัน เราก็ให้คะแนนศูนย์กับทุกบริษัท
               5. ข้อมูลตัวที่ห้า คือข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท กิจการบางแห่งเป็นกิจการที่ขยายงานได้โดยไม่ต้องลงทุนนี่คือกิจการที่ใช้หรือต้องลงทุนใน อาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร และเงินทุนหมุนเวียนของตนเองน้อย และภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ก็ได้เงินคืนมาหมด เช่น กิจการค้าปลีกที่อาศัยการเช่าสถานที่เปิดร้านค้าเป็นหลัก กิจการแบบนี้เป็นกิจการที่ดีเพราะจะสามารถขยายงานไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกู้หรือเพิ่มทุน ทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูง แบบนี้ให้คะแนน บวกหนึ่ง กิจการที่เวลาขยายงานต้องลงทุนสูงพอสมควรอย่างเช่นโรงงานที่ผลิตสินค้าธรรมดา ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากนักเช่นผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือผลิตไฟฟ้าหรือน้ำประปา แบบนี้ให้คะแนน ศูนย์ กิจการที่เป็นโรงงานที่ซับซ้อนและเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเร็วทำให้ต้องอัพเกรดโดยการลงทุนอุปกรณ์ใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ แบบนี้ให้คะแนน ลบหนึ่ง
                6. ข้อมูลตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงที่เป็นข้อมูลสำคัญก็คือ การเจริญเติบโต กิจการที่โตเร็ว นั่นคือ ในระยะยาวโตเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP ตั้งแต่ 3 เท่าขึ้นไป นั่นคือยอดขายโตประมาณปีละ 15% ให้คะแนน บวกหนึ่ง ยอดขายโตตั้งแต่ 5-15% ต่อปีโดยเฉลี่ยให้คะแนน ศูนย์ ยอดขายโตต่ำกว่า 5% ต่อปีในระยะยาวให้คะแนน ลบหนึ่ง การเติบโตของยอดขายที่ว่านี้ต้องเป็นการเติบโตแบบทบต้นและระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก
            รวมคะแนนทั้งหมดของบริษัทที่เราวิเคราะห์ก็จะได้คะแนนที่อาจจะเป็นบวก ลบ หรือเป็น ศูนย์ บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้ บวก 6 คะแนน ต่ำสุดก็จะได้ ลบ 6 คะแนน ซึ่งคงหาได้ยากพอควร เอาตัวเลขที่ได้บวกด้วย 10 ก็จะได้ค่า PE สูงสุดที่เราจะซื้อหุ้นตัวนั้น นั่นแปลว่า บริษัทที่ดีที่สุดได้คะแนนสูงสุดเราจะซื้อต่อเมื่อ PE ไม่เกิน 16 เท่า บริษัทธรรมดา ๆ ที่คะแนนไม่บวกหรือลบเราก็จะซื้อต่อเมื่อ PE ไม่เกิน 10 เท่า และบริษัทที่แย่มากที่สุดนั้น เราไม่ควรซื้อที่ PE เกิน 4 เท่า และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีวิเคราะห์และซื้อหุ้นแบบ VI เวอร์ชั่นหนึ่ง ที่หยาบ ๆ และคิดในใจได้



ที่มา http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=37366

ตราสารอนุพันธ์

    
ความหมายของตราสารอนุพันธ์
                ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่งที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง โดยมูลค่าของตราสารอนุพันธ์จะอ้างอิงกับมูลค่าของสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยที่สินทรัพย์อ้างอิงอาจจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร เงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หรือเป็นสินทรัพย์ โภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น

ประเภทของตราสารอนุพันธ์
            ตราสารอนุพันธ์แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะของสัญญาคือ
ฟอร์เวิร์ด (Forward)
           เป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่จะซื้อ/ขายสินทรัพย์อ้างอิง โดยตกลงราคากันในวันนี้ เพื่อส่งมอบสินค้าและชำระเงินในอนาคต การตกลงซื้อขายสัญญาเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดสถานที่หรือเรียกว่า ซื้อขายแบบ Over – The – Counter (OTC) และมีการกำหนดรายละเอียดของสัญญาตามความต้องการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ฟิวเจอร์ส (Futures)
             เป็นสัญญาที่จะซื้อจะขายสินทรัพย์อ้างอิง โดยตกลงราคาในวันนี้ แต่ส่งมอบสินค้าและชำระเงินในอนาคต เมื่อตกลงกันแล้วจะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นจะบิดพลิ้วไม่ได้ ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาที่ซื้อขายในตลาดที่เป็นทางการ (Exchange) ลักษณะของสัญญาจึงเป็นแบบมาตรฐานมีการกำหนดรายละเอียดของสัญญาอย่างชัดเจน

ลักษณะของสัญญาฟอร์เวิร์ดและฟิวเจอร์ส
 สินทรัพย์อ้างอิง  (Underlying Asset)
              เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าใจตรงกันว่า ตกลงจะซื้อจะขายสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น สินทรัพย์อ้างอิงเป็น หุ้น พันธบัตร เงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหลักทรัพย์ ข้าว ยางพารา น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น
ขนาดของสัญญา  (Contract Size)
               กำหนดว่า 1 สัญญาเป็นการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงเป็นจำนวนเท่าใด เช่น  1 สัญญา เป็นการตกลงซื้อขายยางพารา 1,000 กิโลกรัม
เวลาครบกำหนด  (Maturity)
                 คือวันที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องปฏิบัติตามสัญญา คือ ชำระราคาและส่งมอบ (หรือล้างสถานะ) แล้วแต่กรณี จึงเรียกวันครบกำหนดตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอนาคตว่า “Settlement Date”
วิธีชำระราคาและส่งมอบ  (Clearing and Settlement)
                 เมื่อเกิดธุรกรรมการซื้อหรือขายอนุพันธ์นั้นขึ้นมา จะชำระราคาหรือส่งมอบสินทรัพย์กันอย่างไรต้องพิจารณาว่าสินทรัพย์อ้างอิงนั้นเป็นประเภทใด บางกรณีอาจจะมีการส่งมอบสินทรัพย์กันจริง ๆ แต่สินค้าบางอย่างไม่สามารถส่งมอบได้จริง จะใช้วิธีทำการชำระเงินสดจากส่วนต่างของราคา (Cash Settlement) เช่น การซื้อขายดัชนีราคาหลักทรัพย์

ภาระผูกพันตามสัญญาฟิวเจอร์ส
     ปฏิบัติตามสัญญาฟิวเจอร์สเมื่อถึงเวลาครบกำหนด
     ผู้ขายส่งมอบสินค้าอ้างอิงให้กับผู้ซื้อ และรับชำระเงินค่าสินค้าหรือบางกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบสินค้ากันจริง ๆ ได้ จะใช้วิธีชำระราคาเป็นเงินสดตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
ล้างภาระผูกพันโดยทำรายการตรงกันข้ามกัน
     ผู้ลงทุนที่ต้องการรับรู้กำไร/ขาดทุนก่อนถึงเวลาครบกำหนดสามารถล้างภาระผูกพันที่มีอยู่ โดยทำรายการซื้อขายในลักษณะตรงกันข้ามกับรายการที่เคยทำไว้เรียกว่า “Offset Transaction”  โดยผู้ค้าจะสร้างฐานะที่ตรงกันข้ามกับฐานะที่ตนเป็นอยู่ก่อนวันครบสัญญาดังกล่าว และให้ฐานะที่ตรงกันข้ามนี้ มีวันครบกำหนดสัญญาที่ตรงกัน นั้นคือ ผู้ค้าที่อยู่ในฐานะ Long จะขายสัญญา Futures ที่ตนครอบครองอยู่ในจำนวนเท่ากับที่ถือไว้ ส่วนผู้ค้าที่อยู่ในฐานะ Short  จะซื้อสัญญา Futures ตามที่ได้สร้างฐานะไว้ตอนเปิดสถานภาพ การทำเช่นนี้จึงเป็นการล้างฐานะเดิมให้หมดไป กลไกที่ช่วยให้การสร้างและการล้างฐานะของผู้ค้าเป็นไปอย่างสะดวกได้แก่ กลไกของสำนักหักบัญชีอนุพันธ์ (Clearing House) ซึ่งเข้ามาเป็นคู่ค้าให้ผู้ซื้อและผู้ขาย
ออปชั่น (Options)
                 เป็นสัญญาระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ขายให้สิทธิแก่ผู้ซื้อที่จะซื้อ (หรือขาย) สินค้าอ้างอิงตามจำนวน ราคา และภายในระยะเวลาที่ระบุในสัญญา โดยผู้ซื้อต้องจ่ายเงินค่าสัญญาสิทธิดังกล่าวเรียกว่า ค่าพรีเมียม (Premium) ให้กับผู้ขายเพื่อแลกกับการได้สิทธินั้น ผู้ซื้อจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้แต่ผู้ขายมีภาระต้องปฏิบัติตามสัญญาคือขายสินค้า (หรือซื้อสินค้าจาก) ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อใช้สิทธิตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา
ออปชั่น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
                  คลอออปชั่น (Call Options)หมายถึงสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
     สิทธิจะซื้อ สินค้า อ้างอิงกับผู้ออกออปชั่นตามจำนวนและราคาที่ระบุไว้ภายในระยะเวลาหรือ ณ วันที่ได้กำหนดไว้
     สิทธิที่จะเรียกให้ผู้ออกออปชั่นชำระเงิน เมื่อราคาของสินค้าอ้างอิงหรือระดับตัวเลขของตัวแปรอ้างอิง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาของระดับตัวเลขที่กำหนดไว้ในสัญญา