วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ เซียน 'ฟิวเจอร์ส' ใช้ 'เทคนิคคัล' สู่อิสรภาพทางการเงิน


     เปิดตัว 'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ มือเทรดฟิวเจอร์สชั้น 'เซียน' เคยผ่านสังเวียนเทรดคอมมอดิตี้ในตลาด 'ชิคาโก้' หนุ่มวัย 31 ปี ผู้แสวงหาอิสรภาพทางการเงินด้วย 'เทคนิคัล'

กาแฟสักแก้ว กางเกงใน แล็ปท็อป และก็
Technical...แค่นี้ก็ทำเงินได้แล้ว!!! คำจำกัดความเก๋าๆ ของหนังสือ Freedom Trader ที่ 'หยง' ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ บรรจงถ่ายทอดร่วมกับ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ในฐานะ "เทรดเดอร์ลึกลับ" เซียนเทคนิคัลฝีมือดี

หยงเป็นผู้เปิดโลก
Commodity Trader ที่น้อยคนจะเข้าถึง เขายังเป็นวิทยากรสอนการลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิคประจำเว็บไซต์สต็อคทูมอร์โรว์ วิถีแห่งเซียนของหยงเคยล้มเหลวในการเข้า "เก็งกำไร" ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา เขานำข้อผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนแล้วพัฒนารูปแบบการ "เทรด" ที่เฉพาะตัว มีเป้าหมายเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับตัวเองอย่างยั่งยืน

"ผมเป็นคนโลว์โพรไฟล์ เทรดหุ้นแต่ที่บ้าน ไม่เคยเข้าห้องค้า" หนุ่นนักเทรดวัย 31 ปี ออกตัวกับทีมงาน "ถนนนักลงทุน" กรุงเทพธุรกิจ
BizWeek ณ สำนักงานสต็อคทูร์มอโรว์ ย่านสีลม

ธำรงชัยเปลือยชีวิตก่อนจะมาเป็น "เซียนเทคนิค" ให้ฟังว่า ช่วงปี 2546 หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากประเทศออสเตรเลียกลับมาประเทศไทยก็อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ จึงเริ่มต้นธุรกิจโดยการนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศสเปนมาจำหน่ายให้กับบริษัทไทย แต่ธุรกิจ "ไปไม่รอด" เหตุว่าอ่อนประสบการณ์ และบริหารธุรกิจไม่เป็น ต่อมามีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชักชวนให้ไปทำงานด้านวาณิชธนกิจที่โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจึงเริ่มรู้จักการลงทุนหุ้นตั้งแต่ตอนนั้น
ผมเริ่มเล่นหุ้นก็เล่นแบบมั่วๆ ดูงบการเงินแบบงูๆปลาๆ พอร์ตผมติดลบกระจุยกระจายเลย ตอนนั้นเลยเริ่มไปอบรมตามที่ต่างๆ จนกระทั่งได้พบกับ โฉลก สัมพันธารักษ์ (ลุงโฉลก) ซึ่งเป็นนักลงทุนมากว่า 30 ปี และเป็นเจ้าของเว็บไซต์โฉลกดอทคอมมาสอนเรื่องเทคนิคให้ หลังจากที่ได้เข้าอบรมผมแทบน้ำตาไหล คนนี้สุดยอดแกเป็นอัจฉริยะเรื่องการลงทุนมาก ลุงโฉลกทำให้ผมพบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต"

หลังจากนั้นธำรงชัย ได้ศึกษาวิชาการลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิคต่อเนื่อง 6-7 เดือน บางครั้งก็อาศัยแบบครูพักลักจำ ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาลงทุนผิดพลาดเรื่องอะไร ส่วนตัวเริ่มมีความมั่นใจว่านี่คือแนวทางที่ต้องการเดินแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เพื่อมาเริ่มต้นอาชีพ
เทรดเดอร์ เต็มตัว
ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าไม่เริ่มต้นก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นตอนไหน เลยตัดสินใจลาออกจากงานช่วงต้นปี 2551 บางคนอาจจะคิดนานถ้าจะออกมาเทรดหุ้นเต็มเวลา แต่ผมคิดไม่นานเหมือนใจเรามาทางนี้อยู่แล้ว ช่วงนั้นผมฟิตจัดมากนำเงินเก็บที่มี และขอบางส่วนจากที่บ้านมาเป็นทุน"

การตัดสินใจลาออกจากงาน เขามีสัญญากับตัวเองว่าจะให้เวลา 3 ปี ถ้าไปไม่รอดก็จะกลับมาทำงานประจำและเป็นการสร้างแรงฮึดให้ตัวเองว่าต้องขยัน และต้องทำให้สำเร็จ จากนั้นจึงบินไปฮ่องกงเพื่อเปิดบัญชีเทรดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับโบรกเกอร์ต่างประเทศตามคำแนะนำของพรรคพวก เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีตัวแทน โดยโบรกเกอร์ที่ไปเปิดบัญชีเป็น "ดิสเคาน์โบรกเกอร์" มีบทวิจัยให้ทุกอย่างยกเว้นเจ้าหน้าที่การตลาด จะต้องเคาะซื้อขายเองเท่านั้นผ่านคอมพิวเตอร์หรือบนมือถือก็ได้
พูดตรงๆเลยนะทีแรกที่ไปเปิดพอร์ตต่างประเทศเพราะมันดูเจ๋งดี ตลาดไทยก็ดีแต่ตลาดนอกโอกาสก็เยอะ โดยช่วงแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลคือ "เทรดเกินตัว" แถมช่วงนั้นเจอวิกฤติเลห์แมน บราเดอร์ส พอดี ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญเพราะยังไม่เข้าใจหลักการบริหารเงินที่ถูกต้อง เล่นเก็งกำไรเกินไป

หยง เล่าว่าได้เข้าไปลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
The Chicago Board of Trade (CBOT) ถือได้ว่าเป็นการเรียนลัดข้ามขั้นตอน ตัวตลาดมันสุดยอดแต่ตัวเองลืมประมาณตนว่ากำลังแข่งกับคู่ต่อสู้ชั้นเซียนอย่างพวกโกลด์แมนแซค บังเอิญไปเจอช่วงที่ตลาดกำลังร่วงแรงช่วงแรกของวิกฤติเลห์แมน (ประมาณเดือนตุลาคม 2551)

ช่วงนั้นก่ายหน้าผากเลยนะว่าชีวิตจะเอาไงต่อ ได้แต่บอกตัวเองว่ายังไม่ครบสามปีเลย ช่วงที่โดนหนักถ้าจะเล่น
Short ต่อก็คงได้กำไรมหาศาล แต่ใจมัน(หลุด)ไปแล้วกว่าจะรู้สึกตัวก็ได้กำไรคืนมานิดเดียว ทำให้ผมรู้จักการตั้งกฎให้ตัวเองคือ "ห้ามเล่นเกินตัว" สำหรับนิยามของคำว่า "ห้ามเล่นเกินตัว" คือต้องมีวงเงินเหลือพอไม่ให้ถูก Call Margin ที่สำคัญต้องไม่ให้น้ำหนักกับสิ่งใดในพอร์ตมากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนตัวถ้าเกินกว่า 10% ถือว่าบ้าคลั่งแล้ว

"หลังจากนั้นผมกลับไปหาลุงโฉลกอีกครั้งเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่น่าเชื่อว่าพอเปลี่ยนสไตล์การเล่นมาช้าลงแทนที่จะได้ผลตอบแทนช้ากลับกลายเป็นว่าได้ผลตอบแทนเร็วขึ้นกว่าเดิมภายใน 10 เดือน ก็ได้สิ่งที่ขาดทุนไปกลับคืนมาทั้งหมด"

หยง มั่นใจว่าถ้าเรื่องเทคนิค และคอนเซ็ปท์การลงทุน ลุงโฉลกต้องอยู่อันดับต้นๆของเมืองไทยแน่นอน เรื่องเทคนิคใครๆ ก็ใช้เหมือนกัน แต่เรื่องของทัศนคติการลงทุนลุงโฉลกมีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร หลังจากที่ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ต่อมาก็ได้เลื่อนขั้นมาเป็น "ครู" สอนอยู่ในชมรมเรื่องทฤษฎีคลื่น เอเลียตเวฟ เทรนด์ฟอร์โลเวอร์ ฯลฯ

เขาบอกว่า ในวิชาเทคนิคการเรียนไม่สิ้นสุดแม้จะเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็น "ผู้สอน" แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสไปฟังสัมนากับเว็บไซต์สต็อคทูร์มอโรว์ ที่พัทยา ได้พบกับ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่มาเป็นวิทยากรในงาน พอได้เจอกันวันนั้นก็ยังไม่มีอะไรมาก

"ต่อมาแพทสนใจขอไปดูการเทรดของผมที่บ้าน ผมก็พูดให้ฟังเรื่องมุมมองการลงทุนในแบบนักเทคนิคคัล ช่วงนั้นแพทเขาเป็น "วีไอ" เต็มตัวไม่สนใจเทคนิคเลย เขาบอกว่ามันเหมือนหลอกลวง พอมาที่บ้านผมดูผมเทรดจริงเขาเลยเริ่มเชื่อและเปิดใจเรียนรู้ จากนั้นผมกับเขาก็คุยกันว่าน่าจะมีกิจกรรมสอนนักลงทุน สุดท้ายก็เกิดเป็นคอร์สอบรมเทคนิคที่ผมรับผิดชอบ


แม้จะเป็นเซียนเทคนิค แต่บ่อยครั้งที่ธำรงชัยนำปัจจัยพื้นฐานมาพิจารณาร่วมด้วย ที่สำคัญการได้ฝึกฝนและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้อยู่เสมอเหมือนการ "ลับมีดให้คม" เพราะเส้นทางนี้มักจะมีสิ่งใหม่ๆนอกเหนือตำราเรียนอยู่เสมอ เขาบอกว่าการใช้เทคนิคไม่มีวันเพอร์เฟค บางไม้ที่มั่นใจก็มีโดน (หลอก) บ้าง ไม่จำเป็นว่าเราต้องได้กำไรทุกครั้ง

"สิ่งที่ผมพบก็คือ เวลาไปสอนมีแต่คนอยากรวยเร็วๆ การทุ่มสุดตัวอาจไม่ยั่งยืน"

หยง มองว่าอาชีพเทรดเดอร์มีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้ง่าย หัวใจคือจะต้อง "ไม่เสี่ยงเกินตัว" จากประสบการณ์เวลาเสี่ยงมากไม่ได้แปลว่าต้องได้มากเสมอไป ดีที่สุดคือหาจุดเสี่ยงที่เรารับได้ ผลตอบแทนต้องได้เต็มที่ ถ้ารอบใหญ่มาถึงเราต้องกินให้ได้เต็มคำ จากที่ได้สัมผัสมา นักเทคนิคมีหลายสายมากและไม่มีแนวทางไหนเทพที่สุด คนที่สำเร็จอยู่ที่การปรับใช้ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเอง

"ตัวผมเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพ รายได้หลักมาจากการเทรด ดังนั้นวิธีการของผมจะต่างจากคนอื่น อย่างเดือนนี้ทำกำไร 100% เดือนหน้าหล่นวูบ 50% แบบนี้ไม่สม่ำเสมอ ผมต้องถอนเงินในพอร์ตมาใช้จ่าย ถ้าสวิงมากจะถอนไม่ได้ จึงต้องพัฒนารูปแบบตัวเอง เทรดอย่างไรก็ได้ให้เงินเติบโตสม่ำเสมอ ขึ้นเยอะก็ดี แต่ต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะถอนมาใช้จ่ายได้"

ธำรงชัย กล่าวว่า เทรดเดอร์ในความเห็นส่วนตัวมี 3 ระดับ หนึ่ง.คือระดับเอาตัวรอดได้ (
Survivor) ต้องเทรดให้รอดก่อนอย่าหวังรวยแค่ไม่เจ๊งก็สำเร็จแล้ว เพราะคนอีก 90% เขาไม่รอด สอง.เข้าช่วงเติบโต (Growth) สม่ำเสมอ พอร์ตจะโตต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ชีวิตคนเราจะวัดความสำเร็จกันสั้นๆ ไม่ได้ สาม.สร้างความมั่งคั่ง (Wealth) หรือ สู่อิสรภาพทางการเงิน นี่คือสเต็ปท์ที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องผ่าน คนที่ใจร้อนอยากรวยเร็วๆ มักไปไม่รอด ส่วนตัวคิดว่าตัวเองเพิ่งเข้าช่วงเติบโตเท่านั้น

"ผมมองการลงทุนเหมือนปลูกต้นไม้เช่นต้นมะม่วง ปีแรกใส่ปุ๋ยลดน้ำ ต้นโตขึ้นแต่ยังเอามากินไม่ได้ ไม่พอที่จะมีอิสรภาพทางการเงินซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด เราต้องปลูกต่อไปต้นใหญ่ขึ้น ถ้าเอามาใช้ซื้ออะไรก่อนพอร์ตก็จะไม่โตเท่าที่ควร"

หยง สรุปว่า การลงทุนคือการประคองเงินและทุนให้เติบโตไปเรื่อยๆ เราต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เขาเชื่อเรื่องของ "เวลา" วันใดที่ต้นไม้เติบใหญ่แข็งแรงถึงวันนั้นดอกผลจะกินไม่หมด...ถ้าเราต้องการไปสู่อิสรภาพทางการเงิน "เราต้องอดทน"

เรื่องราวของ "เซียนเทคนิค" ยังไม่จบ สัปดาห์หน้า ธำรงชัยจะมาตีแผ่ "เทคนิคการลงทุน" รวมถึงพยากรณ์ทิศทาง
SET Index ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า ห้ามพลาดเด็ดขาด!!

คนที่จะ
'รวย' ต้องเลือก 'สินทรัพย์' ถูกตัว-ถูกเวลา (ไซด์บาร์)

ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ เล่าว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจรุ่นเก่าหลายคนที่ประสบความสำเร็จ อยู่ในวงจรธุรกิจมานาน 30 ปี ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทำงานตลอดทั้ง 30 ปี แต่พวกเขาทำงานหนักเพียงแค่บางช่วงเท่านั้น จากที่ได้คุยกับนักลงทุนที่เล่นหุ้นสมัย
SET Index 1,700 จุด ประเทศไทยสมัยยุคปี 1980-1997 (ปี 2523-2540) ใครเล่นหุ้นรวยหมดแค่ใครจับหุ้นก็รวยแล้วไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่หลังจากนั้นหุ้นก็เน่าไม่เคยไปถึงระดับเดิมอีกเลย แต่หลังปี 2000 (ปี 2543) ใครจับอสังหาริมทรัพย์ก็รวย
จริงแล้วถ้าเราสามารถจับสินทรัพย์ที่จะลงทุนถูกตัวและถูกเวลา เราจะทำงานหนักเพียงแค่ "สิบปี" ที่เหลือติดลมบนแล้ว แต่ถ้าไปเลือกลงทุนผิดตัวก็คงสร้างความมั่งคั่งได้ไม่ง่าย อย่างใครมาจับอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้ก็คงเหนื่อยแล้ว (หมดรอบแล้ว)

ส่วนตัวจึงตั้งคำถามว่าแล้วช่วง 10 ปีจากนี้ (ปี 2010-2020) สินทรัพย์ที่ควรต้องลงทุนคืออะไร..
? "หุ้นคงไม่ใช่พระเอกของรอบนี้แน่นอน" เงินมันต้องหาที่ลงไม่อันใดก็อันหนึ่ง สรุปได้ว่าอาจจะเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนตัวมองว่าโลกเราของกินของใช้แพงขึ้น อาหารผลิตมากขึ้นแต่ไม่พอกิน มีรถยนต์กับสัตว์มาแย่งส่วนของคน

"ผมมองว่า
Commodity กลุ่มอาหารและโลหะมีค่า จะเป็น "พระเอก" ถ้าจับถูกตัว เรามีโอกาสสร้างความั่นคั่งแน่...ผมให้น้ำหนัก "โกลด์" กับ "ซิลเวอร์" ไปได้ไกลแน่นอน ทองถ้าจบการย่อรอบนี้จะไปได้ไกล 2,200 เหรียญต่อออนซ์ได้เห็นแน่ และอาจเป็นแค่หนึ่งในเป้าหมายก็ได้ อีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจไม่มีปัญญาซื้อทองก็ได้ ธำรงชัย มอง
ที่มา  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น