วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

เจ้ามือป๊อกเด้ง

     เมื่อผมเข้ามาอยู่ในแวดวงของการลงทุนเต็มตัว บ่อยครั้งผมคิดถึงประสบการณ์เก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม พนันที่ผมเคยทำมา ส่วนใหญ่แล้ว เกม พนันที่ว่า มักจะเป็นเกมเดิมพันของ ชีวิตมากกว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งผมก็เล่น พนันเป็นเงินบ้าง และทุกครั้งก็เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน หนึ่งในการเล่นพนันที่ผมเคยทำก็คือการเป็น เจ้ามือป๊อกเด้ง และต่อไปนี้คือประสบการณ์ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้น
     ในการเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งนั้น สิ่งที่ผมพบก็คือ ผมอาจจะได้เปรียบลูกมือเล็กน้อยในแง่ที่ผมสามารถเลือกที่จะ จับ หรือเปิดไพ่ของลูกมือก่อนโดยเฉพาะคนที่ จั่วไพ่ไปหลายใบและมีโอกาส ตาย ซึ่งจะทำให้ผมชนะหรือ กินคนนั้นก่อน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผมมักจะเล่นได้กำไรเป็นกอบเป็นกำในช่วงเวลาหนึ่งติดต่อกันจนเงินบนหน้าตักผมกองท่วม อาจจะเป็นเพราะผมมีฝีมือ หรือที่น่าจะเป็นมากกว่าก็คือ ดวงกำลังขึ้น แต่หลังจากนั้น ดวงผมก็มักจะเริ่มตก ผมเริ่มแพ้หรือเสียเงินมากขึ้นและมากขึ้นจนเงินกองโตนั้นลดลงไปเรื่อย ๆ จนแทบหมดซึ่งถ้าเวลายังเหลือ ผมก็จะต้อง ควักเค้า หรือเอาเงินจากกระเป๋าออกมาเพิ่ม และแล้ว โชคก็มักจะกลับมา ผมเริ่มได้กำไรและพอร์ต.. อุ๊บ.. กองเงินบนหน้าตักก็เติบโตขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็จะลดลงไปอีกในเวลาต่อมา เป็นวงจรหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีสองซึ่งได้เวลานอนและเป็นเวลาที่ต้องเลิกเล่น นั่นก็จะเป็นเวลาตัดสินว่าผมจะได้หรือจะเสียเงินจากการเล่นพนันในครั้งนั้น
การเล่นหุ้นหรือการลงทุน โดยเฉพาะคนที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น และ กล้าได้กล้าเสียบางทีผมก็คิดว่าอาจจะมีอะไรคล้าย ๆ กับการเล่นเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งอยู่เหมือนกันในแง่ของผลตอบแทนหรือเม็ดเงินที่ได้หรือเสีย ลองมาดูตัวอย่างของนักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลาย ๆ คน
     คนแรกก็คือ Jesse Livermore “นักเก็งกำไรบันลือโลก ลิเวอร์มอร์นั้นเป็นนักเก็งกำไรโดยเฉพาะในสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการใช้มาร์จินหรือเงินกู้มาเก็งกำไรมหาศาล วิธีการลงทุนนั้น แน่นอน คงเป็นการ ซื้อนำไล่ราคา รวมถึงการปล่อยข่าวต่าง ๆ ซึ่งในแนวนี้ก็คงคล้าย ๆ กับการทำตัวเป็น เจ้ามือป๊อกเด้ง ซึ่งมีความได้เปรียบคนที่ ซื้อตาม หรือลูกมืออยู่ไม่น้อย ผลการเล่นหุ้นหรือเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์นั้นคล้ายคลึงกับเจ้ามือป๊อกเด้งมากนั่นก็คือ เขารวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็น เซเล็บที่คนรู้จักกล่าวขวัญกันไปทั่ว และต่อมาเขาก็เจ๊งจนล้มละลาย แต่ด้วยการที่ยังมี เครดิตหรือยัง เหลือเค้า อยู่บ้าง เขาจึงสามารถทำกำไรกลับมาได้อีก แต่แล้วเขาก็เจ๊งอีก นับได้ถึงสามครั้งที่เขาล้มละลายและกลับมาใหม่เหมือนเจ้ามือป๊อกเด้งเหมือนกัน โชคไม่ดีที่ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาเลิกเพราะฆ่าตัวตาย พอร์ตของเขาเหลือศูนย์ดอลลาร์
     คนที่สอง ผมยกให้ Julian Robertson ตำนานผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ อดีตผู้บริหารกองทุน Tiger Fund กองทุนเฮดจ์ฟันด์กองแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยเท็คนิคการลงทุนที่มาในแนว “VI” อยู่เหมือนกันแม้ว่าหลายคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ ผลตอบแทนที่โดดเด่นทำให้พอร์ตของเขาเติบโตมหาศาลจากปีเริ่มต้นในปี 1980 ที่พอร์ตแค่ 8 ล้านเหรียญกลายเป็น 7.2 พันล้านในปี 1996 และกลายเป็นเฮดฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยกองทุนถึงกว่า 22 พันล้านเหรียญในปี 1998 แต่พอถึงปี 2000 โชคก็ไม่เข้าข้างเขา กองทุน Tiger มีผลงานย่ำแย่มาก ผลงานพ่ายแพ้ดัชนี S&P ย่อยยับและผู้ถือหน่วยลงทุนพากันถอนทุนทำให้เขาต้องประกาศปิดกองทุน สาเหตุหนึ่งก็คือการที่กองทุนไม่ได้ถือหุ้นไฮเท็คที่กำลังร้อนแรงและราคาวิ่งกันมายาวนานเลย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการที่ Tiger Fund ถือหุ้นบริษัท US Airway อยู่ในพอร์ตมหาศาล ซึ่งราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและเขาปฎิเสธที่จะขายมัน ในที่สุด US Airway ก็ล้มละลายทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหายยับเยิน ยังดีที่ Robertson ยังเหลือเงินส่วนตัวอยู่บ้าง ต่อมาเขาก็ใช้เงินนั้นช่วยเป็น เงินเริ่มต้น เพื่อก่อตั้งเฮดฟันด์ใหม่ ๆ อีกหลายสิบกอง นอกจากนั้นลูกน้องหลายคนที่เคยทำงานใน Tiger Fund ก็ออกไปตั้งกองทุนเฮดฟันด์ใหม่ ๆ อีกหลายกองที่เรียกกันว่า Tiger Cubs หรือกองทุน ลูกเสือ ส่วนตัวจูเลียนเองก็คงจะแก่เกินที่จะเล่นเองแล้วเขาจึงหันมาทำเรื่องการกุศลแทน
     คนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ Bill Miller ผู้บริหารกองทุน Legg Mason Value Trust บิล มิลเลอร์ เคยเป็นสุดยอดนักบริหารกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะเวลาที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ในระยะเวลา 15 ปี จากปี 1991-2005 กองทุนของเขาทำผลตอบแทนชนะดัชนี S&P ได้ทุกปีติดต่อกัน กองทุนเติบโตขึ้นจาก 750 ล้านเหรียญในปี 1990 เป็น 20 พันล้านเหรียญในปี 2006 เขาบอกว่าตนเองเป็น Value Investor ทั้ง ๆ ที่พอร์ตลงทุนของเขาเล่นหุ้นไฮเท็คจำนวนมากที่มีราคาหรือค่า PE สูงลิ่ว ในตอนนั้นเขาเป็น ซุปเปอร์สตาร์แต่แล้ว โชคก็ไม่เข้าข้างเขา ตั้งแต่ปี 2006 ผลตอบแทนของเขาก็ตกต่ำลงและต่ำกว่าดัชนี S&P ในปี 2008 จากต้นปีถึงเดือนมิถุนายน พอร์ตเขาขาดทุนถึง 28% ในขณะที่ดัชนีลบแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้านับย้อนหลังไปสิบปี สถิติของเขาต่ำกว่าดัชนี S&P และแม้ว่าจะดูย้อนหลังไปตั้งแต่ตั้งกองทุน ผลตอบแทนที่เคยยอดเยี่ยมนั้นก็กลายเป็นธรรมดา คือดีกว่าดัชนี S&P เพียงนิดเดียว เทียบกับเจ้ามือป๊อกเด้ง นี่ก็คือช่วงที่เงินบนหน้าตักกองโตลดฮวบลงไปเกือบหมด เราคงต้องดูกันต่อไปว่าเงิน บนหน้าตักจะโตขึ้นอีกไหมสำหรับ บิล มิลเลอร์
อาการแบบเจ้ามือป๊อกเด้ง หรือจะเรียกให้เท่ว่า ป๊อกเด้งซินโดรมนี้ ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่น้อยถ้าเวลาของการเล่นหรือการลงทุนยาวพอ มันเกิดขึ้นได้กับนักลงทุนธรรมดาเช่นเดียวกับ เซียน มันเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นนักเก็งกำไรเช่นเดียวกับคนที่เรียกตัวเองว่า Value Investor ดังนั้น เราจะต้องไม่ประมาทและมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป สถานการณ์ตลาดหุ้นที่เป็นกระทิงที่ยาวนานอาจทำให้เราฮึกเหิมและโลภเกินไปจนลืมไปว่า หายนะนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าเราไม่แน่ใจ การ เก็บเงินเข้ากระเป๋าบ้างในยามที่เงินกำลังกองเต็มหน้าตัก ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวนัก
ที่มา  http://www.panphol.com