วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์

      ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย  จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น  นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว  ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน  หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย  นอกจากนั้น  เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก  “ธุรกิจ”  เขาเป็นแค่  “นักลงทุน”  มาตลอดชีวิต  ดังนั้น  นักลงทุนหนุ่ม ๆ  จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด  “อาชีพ”  การเป็น  “นักลงทุนตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์   แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ?   ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร
      พูดถึง เงินเริ่มต้นของบัฟเฟตต์ก่อน  ตาม  “ตำนาน”  นั้น  บอกว่าบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง  100 เหรียญหรือไม่กี่พันบาทไทย  แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี  “รายได้อื่น”  เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ  ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้  บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก   แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  ในช่วงต้น ๆ  ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น  “รายได้ส่วนน้อย”   รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น  “รายได้อื่น”  ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง  นั่นก็คือ   เป็นรายได้จากการ  “รับจ้างลงทุน”  ซึ่งก็คือ  ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร   รายได้ส่วนนี้  บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ  และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด  เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก  ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50%  ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญเมื่อเขาอายุ 38 ปี  และนี่คือการจบ  “บทที่หนึ่ง”  ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์
      บทเรียนของ บทที่หนึ่งก็คือ  ในช่วงแรก ๆ  ที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น  คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน  ในเมืองไทยเองนั้น  การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย  ยิ่งกว่านั้น  การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น  มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น  “เซียนหุ้น”  ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้  การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น  ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก   ว่าที่จริง  บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่า นั้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ   ดังนั้น  ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน  สิ่งที่ควรทำก็คือ  ทำงานหาเงินมาเพิ่ม  “พอร์ตเริ่มต้น”  ให้มากพอจนกระทั่ง  “เงินจากการลงทุน”  จะมากกว่าเงินจากการทำงานมาก ๆ  และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม  “บทที่สอง
      บทที่สองของบัฟเฟตต์ก็คือ  การลงทุนเพียงอย่างเดียว  นั่นก็คือ  การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ  รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี  ในช่วง 10 ปีนับจากปี 1969 ถึง 1979  ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น   ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึง สองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง  ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7%  ต่อปีโดยเฉลี่ย   อย่างไรก็ตาม  พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5%  เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8%  และนี่คือศิลปะแห่งการ  “เอาตัวรอดในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์
      ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของบัฟเฟตต์คือช่วงปี 1979-1989 นั้นเป็นช่วง ฟื้นตัวของตลาดหุ้น  ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5%  แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1%  ชนะตลาดถึง 26.6%  ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 1989
      ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 นั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน  ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย  พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า นั้น  ส่วนหนึ่งก็คือ  ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตซึ่ง บัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน  ดังนั้น  ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5%  โดยเฉลี่ย  และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1%  ในปี 1998  บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วย ความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ   เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา
      ช่วงสิบปีสุดท้ายคือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้นเป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น  ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม  ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย  พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9%  อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็คจึงไม่ถูกกระทบมากนัก  ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6%  นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูงแต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน  นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามากจนการทำผลตอบแทนที่สูง มากนั้น  ทำได้ยากขึ้นมาก
      ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43%  เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24%  ต่อปี  เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19%  ต่อปีนั้น  เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของบัฟ เฟตต์
การ เดินทางของบัฟเฟตต์นั้น  เป็นเส้นทางที่ ขีดเขียนขึ้นด้วยฝีมือและ  แน่นอน  ด้วยดวงชะตา  เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก  “ขีดเขียนขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ  ของชีวิต  ว่าที่จริง  VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น  เพิ่ง  “เริ่มเดินทาง”  หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง  บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ  แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น  ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก  และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาก ๆ  ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก  ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์


ที่มา http://www.thaivi.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น